กทม.ยุค “รถไฟฟ้า” จาก “ตึกแถว” สู่ “คอนโด”

เมื่อฉบับวันจันทร์ที่ผ่านมา หน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ลงตีพิมพ์แผนที่แผ่นยักษ์ 1 หน้าไทยรัฐเต็มๆให้เห็นถึงเครือข่ายรถไฟฟ้าทั้ง 9 สายของกรุงเทพมหานคร พร้อมรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างโดยสังเขป

ผมอ่านจบแล้วก็ต้องดึงหน้าเศรษฐกิจที่เป็นคู่กลางของเซ็กชันแรกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (หน้า 8-9) ออกมาแปะบนไวท์บอร์ดหรือกระดานขาวในห้องทำงานที่บ้านผมทันทีทันใด

เพื่อที่จะใช้เป็นทั้งสิ่งบำรุงขวัญและปลอบใจตัวผมเอง ตลอดจนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือเพราะคงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนถึงรถไฟฟ้าบ่อยๆ ในช่วงนี้

ต้องขอขอบคุณน้องๆ หน้าข่าวเศรษฐกิจไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

ที่ผมใช้คำว่า หน้า 8 หน้า 9 ของไทยรัฐฉบับวันจันทร์ที่ 7 มกราคม จะเป็นเสมือนสิ่งบำรุงขวัญ และช่วยปลอบใจตัวผมด้วยนั้น เป็นเพราะผมก็เป็นประชาชนคนกรุงเทพมหานครซีกตะวันออกคนหนึ่ง ที่กำลังอยู่ระหว่างเผชิญกับความทุกข์ยาก อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักหนาสาหัส นับตั้งแต่มีการลงมือก่อสร้างถึง 3-4 สายพร้อมกัน ใน กทม.ซีกนี้ เมื่อปีที่แล้ว

เก็บมาเขียนปรับทุกข์ผูกมิตรผ่านคอลัมน์นี้ไปก็หลายครั้ง

เมื่อได้เห็นแผนที่แผ่นเบ้อเริ่ม เต็มหน้าเศรษฐกิจทำให้ทราบว่าทั้ง 9 เส้นทางมีสถานีอะไรบ้างผ่านไปทางไหนบ้างก็ทำให้ผมสามารถจินตนาการตามไปถึงเหตุการณ์ในอนาคตอย่างมีความสุข

ครั้นได้อ่านในรายละเอียดว่า ในปัจจุบันสร้างมาถึงไหนแล้ว ยังเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์จะเปิดใช้เมื่อใด จากบทสรุปที่ทีมข่าวเศรษฐกิจเขาสรุปไว้ครับ ก็ทำให้รู้สึกว่าเราพอจะมีความหวัง แม้บางสายอย่างในละแวกบ้านผมจะต้องรออีกนาน เพราะเพิ่งเริ่มสร้างไป 14 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้น และอาจต้องรอถึงปี 2564 ก็ตาม

แต่บางสายอย่างสายสีเขียวช่วง หมอชิต สะพานใหม่ คูคต นั้นสามารถเดินหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และจะมีการเปิดใช้งานได้ภายในปีหน้า

ครับ! ดูแผนที่ ดูโครงข่ายและรายงานความก้าวหน้าทั้งหมดแล้วก็ทำให้ขวัญและกำลังใจดีขึ้นอย่างที่ว่า

แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้เป็นข้อคิดก็คือรถไฟฟ้าทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะรวดเร็ว แม้จะสะดวกสบาย แต่การลงทุนสูง ค่าโดยสารก็จะต้องสูงด้วยเป็นเงาตามตัว อย่างน้อยก็ต้องแพงกว่าค่ารถเมล์ รถตู้ พอสมควรละครับ

ผู้ที่จะมีโอกาสได้ใช้ก็จะต้องเป็นคนมีรายได้ปานกลางขึ้นไปเท่านั้นเหมือนสายที่เสร็จแล้วและเปิดบริการอยู่ในขณะนี้ จะเห็นว่าผู้มีรายได้น้อยแทบไม่มีสิทธิ์ใช้เลย ยังคงต้องพึ่งพารถเมล์รถตู้กันอยู่เป็นส่วนมาก

ผมเชื่อว่าแม้ในอนาคตการพึ่งพารถเมล์ รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ก็ยังจะมีอยู่อีกมากขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย สำหรับกระทรวงคมนาคมว่าจะช่วยดูแลพี่น้องระดับรายได้น้อยของเราอย่างไร

ในวันที่มีรถไฟฟ้าไปชานเมืองมากขึ้น แต่ยากที่คนจนซึ่งอยู่อาศัยย่านชานเมืองจำนวนมากจะมีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้า ซึ่งคงแพงเกินไปสำหรับพวกเขา

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นห่วงมากและยิ่งมาเห็นแผนที่รถไฟฟ้าแบบเต็มรูปทั้งเมืองเช่นนี้ ก็ยิ่งเป็นห่วงขึ้นไปอีก

นั่นก็คือพวกคอนโดหรือตึกสูงต่างๆ ซึ่งกลายเป็นแนวโน้มของ กทม.ไปแล้ว ว่ามีรถไฟฟ้าผ่านที่ไหนจะต้องมีคอนโดหรือตึกสูงขึ้นที่นั่น

ไม่ต้องอื่นไกล แค่ถนนลาดพร้าวที่ผมผ่านทุกวันนี้ก็เห็นมีแต่รื้อตึกแถวสร้างคอนโด

อนาคตกรุงเทพฯ ก็คงจะมีแต่คอนโดสลับกับศูนย์การค้าเท่านั้น สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ แทบไม่มีเลย

ความงดงามและความหลากหลายของกรุงเทพฯ คงจะลดลงไปเยอะ เหลือเพียงแท่งๆ สูงๆ กับรางรถไฟฟ้ากับขบวนรถไฟฟ้าที่เลื้อยไปเลื้อยมาเหมือนตัวหนอนยักษ์กลางอากาศเท่านั้นเอง

ช่วยกันคิดสร้างอะไรอย่างอื่นๆ เอาไว้ 2 ฟากทางรถไฟฟ้าบ้างนะครับ อย่าคิดสร้างแต่คอนโดอย่างเดียวเลย แค่ทุกวันนี้ก็เยอะจนมองจากหน้าต่างรถไฟฟ้าออกไปไม่เห็นอะไรมากนัก…นอกจากคอนโด, คอนโด—โด่เด่ไปหมดทั่วเมืองซีน่า.

“ซูม”