ชีวิตต้องสู้ของ “คนใต้” จากวันนั้นถึงวันนี้และต่อไป

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ช่วงบ่ายๆ ของวันเสาร์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์พาดหัวว่า “พายุปาบึกไปแล้ว” พร้อมกับขยายความว่าอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน เคลื่อนลงทะเลอันดามัน

เมื่ออ่านรายละเอียดในเนื้อข่าวจึงทราบว่าเป็นถ้อยแถลงจาก

กรมอุตุนิยมวิทยา ในวันเดียวกันประมาณสัก 9 โมงเช้าเศษๆ เห็นจะได้

กรมอุตุฯ ท่านสรุปว่า ศูนย์กลางของพายุปาบึกอยู่ที่อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ก่อนจะไปต่อยังทะเลอันดามันแล้วก็สลายตัวในที่สุด

แต่กระนั้นก็ยังมีฤทธิ์มีเดชก่อให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณใกล้เคียงพังงาไปจนถึงจังหวัดที่เคยเป็นทางผ่านของ “ปาบึก” เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ไปจนถึงจังหวัดที่อยู่เหนือขึ้นไป เช่น ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ เพชรบุรี อีก 1 วัน ขอให้พี่น้องประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ระวังอันตราย

จากฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพี่น้องประชาชนที่อยู่ชายฝั่งควรงดการเดินเรือต่อไปอีกระยะหนึ่ง

สรุปข้อใหญ่ใจความก็คือ ขอให้อดทนกันอีกสักวัน 2 วัน ผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” โดยตรงก็คงจะค่อยๆ หมดไป

เหลือแต่เพียงการตรวจสอบความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องชาวใต้ที่ต้องประสบเคราะห์ในครั้งนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานแนวทางป้องกันและช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้มาตั้งแต่แรกที่มีข่าวว่าพายุจะเข้า และเมื่อพายุเข้าแล้วก็พระราชทานอาหารและสิ่งของที่จำเป็นส่วนหนึ่งแก่ผู้ประสบเคราะห์ ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทั้งพสกนิกรในบริเวณพื้นที่ และพสกนิกรที่ติดตามข่าวด้วยความห่วงใยทั่วประเทศ

ในส่วนของรัฐบาลก็ได้แสดงความจริงจัง มีทั้งการเตรียมการล่วงหน้า และเตรียมการเยียวยาหลังพายุสงบแล้ว

ภาคเอกชนและองค์กรเอกชนต่างๆ ก็คงจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมความช่วยเหลือตามมา…อันเป็นคุณลักษณะของคนไทยเรามาแต่โบราณกาล ที่ไม่เคยทอดทิ้งคนไทยด้วยกันที่ตกทุกข์ได้ยาก

ระหว่างนั่งติดตามข่าวคราวจากรายงานสดแบบ “เกาะติด” ตลอดวันของ ไทยรัฐทีวี ได้เห็นภาพความน่ากลัวขณะที่คลื่นลมถาโถมเข้าใส่จุดต่างๆที่เป็นทางผ่านของพายุ…โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช ที่โดนหนักที่สุดนั้น ผมก็อดที่จะนั่งคิดย้อนหลังไปในอดีตประสาผู้อาวุโสที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลานานเสียมิได้

ภาคใต้และพี่น้องชาวใต้เป็นภาคที่เปรียบเสมือนด่านหน้าในการที่จะรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางทะเลมาโดยตลอด

ครั้งที่ผมจำได้แม่นยำก็คือเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2505 ขณะที่ผมยังเป็นนักศึกษาปี 3 อยู่ที่ธรรมศาสตร์

ได้เกิดพายุโซนร้อน “แฮเรียต” พัดขึ้นฝั่งที่ แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช เช่นกัน ทำท่าเหมือนจะเข้าสงขลาก่อนแต่แล้วก็เปลี่ยนมาแหลมตะลุมพุกด้วยความเร็วถึง 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุแฮเรียตใช้เวลาอยู่ในภาคใต้ 5 วัน หลังจากนั้นก็อ่อนกำลังลงเคลื่อนสู่ทะเลอันดามันไปสลายตัวที่อ่าวเบงกอล

ความเสียหายที่มีการบันทึกไว้คร่าวๆว่าใน 12 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบนับแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 911 คน, สูญหาย 142 คน, บาดเจ็บสาหัส 252 คน, ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน, อาคารบ้านเรือนพังทั้งหลัง 22,296 หลัง, ชำรุด 50,775 หลัง

โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางผลไม้เสียหายประมาณ 791 ล้านต้น สถานที่ราชการ วัด การไฟฟ้า สถานีตำรวจเสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวถึงสิบกิโลเมตร ฯลฯ

ประเมินความเสียหายทั้งหมดประมาณ 377-1,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อคิดถึงค่าของเงินใน พ.ศ.2505

นี่เป็นเพียงตัวอย่างแรกของเคราะห์ที่พี่น้องชาวใต้ต้องเผชิญ เมื่อ 56 ปีเศษๆ หรือกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ผมขออนุญาตเขียนต่อวันพรุ่งนี้อีก สักวัน เพื่อให้ทราบถึง “ชีวิตต้องสู้” ของคนใต้ ซึ่งแม้จะพ่ายแพ้ต่อภัยธรรมชาติอย่างยับเยินในช่วงต้น แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้แบบศิโรราบ แต่อย่างใดทั้งสิ้น สามารถกลับมาเอาชนะและยืนหยัดได้อย่างสวยงามมาจนถึงทุกวันนี้.

“ซูม”