เศรษฐกิจโลกน่าห่วงใย

รัฐบาลไทยอย่าประมาท! ต้นฉบับวันนี้ของผมน่าจะเป็นฉบับสุดท้ายของปี 2561 สำหรับ คอลัมน์ “เหะหะพาที” แล้วละครับ เพราะจะลงตีพิมพ์ในวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2561

พรุ่งนี้ 29 ธ.ค.61 เป็นวันเสาร์ คอลัมน์นี้จะแปลงร่างไปเป็น “เสาร์สารพัน” ชวนเที่ยวงาน ชวนอ่านหนังสือ หรือชวนฟังเพลงย้อนยุค (ถ้ามี) ลืมเรื่องหนักสมองไปชั่วขณะ

มะรืนนี้ (30 ธ.ค.) ตรงกับวันอาทิตย์ ก็เป็นโควตาของเรื่อง “ซอกแซก” ในทำนองไปเที่ยวไปกินหรือไปดูอะไรมาสักอย่างแล้วมาเล่าสู่กันฟังว่าเป็นอย่างไร…ว่ากันเบาๆ สบายๆ ตามสไตล์วันหยุด

เพราะฉะนั้น จะเขียนอะไรที่ภาษาฝรั่งเขาใช้คำว่า “ซีเรียส” ที่คนไทยมักแผลงมาเป็น “ซีเครียด” หรือเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังหน่อยก็คงต้องเขียนกันในวันนี้ละครับ

โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจโลก…เศรษฐกิจไทย ที่ผมมักจะหยิบมาเขียนเสมอๆ ไม่ช่วงส่งท้ายปีเก่าของทุกๆ ปี

ขณะผมนั่งเขียนเป็นวัน “บ็อกซิ่งเดย์” หรือวันบรรจุกล่องของขวัญ (26 ธ.ค.) หลังวันคริสต์มาส 1 วัน ยังไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เพราะนั่งเขียนตอนค่ำๆ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังไม่เปิด

แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ก็คงต้องบอกว่า ใจหายที่เห็นหุ้นสหรัฐฯตัวแดงเถือก…ร่วงกราวทั้ง 3 ตลาด

ก่อนวันหยุดคริสต์มาส 1 วัน ดาวโจนส์อย่างเดียวร่วงไปถึง 653 จุด และก่อนหน้านี้ไป 5 วัน ก็ปรากฏว่าดาวโจนส์ร่วงลงทุกวัน วันละ 400 จุดบ้าง 300 จุดบ้าง ไปถึง 500 กว่าจุดก็ยังมีบวกอยู่วันเดียวเท่านั้น และก็บวกเพียง 83 จุด ซึ่งน้อยมาก

เมื่อเอาตัวเลขทั้งหมดรวมกัน ปรากฏว่าดาวโจนส์ลดไปถึง 2,308 จุดทีเดียว ถือว่าลดอย่างน่าใจหาย

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นขณะนี้คล้ายๆ กับเมื่อตอนก่อนจะเกิดวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 และบางรายมองลึกกว่านั้น บอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่แย่สุดๆ ในเดือนธันวาคม นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกเมื่อปี 1931 หรือ 2474 เป็นต้นมาเลยทีเดียว

อะไรไม่อะไร บทสรุปของนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักออกมาตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าเติบโตช้าลงกว่าปีนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะออกมาเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

มีบางรายมองในแง่ดีบอกว่าปี 2019 น่าจะอยู่ในขั้นชะลอตัว แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำของสหรัฐฯ น่าจะมาในปี 2020

ไม่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้น แม้เศรษฐกิจโลกก็จะชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะชะลอลงหมด รวมทั้งจีน ซึ่งคงต้องรอดูเช่นกันว่าจะชะลอมากหรือน้อยเพียงใด

ถามว่า อะไรเป็นสาเหตุ? คำตอบแรกก็คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่นิ่ง แม้จะดูเหมือนพักรบไป 3 เดือน แต่จากสงครามจิตวิทยาที่ฝ่ายสหรัฐฯ ออกข่าวมาว่าจะไม่มีการลดราวาศอก…ทำให้ความกังวลใจยังมีอยู่

ในสหรัฐฯเองก็เกิดภาวะ “ชัตดาวน์” งบประมาณราชการบางส่วนเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ยอมลงนามในร่างงบประมาณ หากรัฐสภาไม่บรรจุงบประมาณก่อสร้างกำแพงกั้นประเทศสหรัฐฯกับเม็กซิโก 5,000 ล้านเหรียญ ดังที่ท่านต้องการ

ตามมาด้วยการตำหนิรายวันของท่านผู้นำทรัมป์ต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่ท่านผู้นำบอกแล้วว่าอย่าขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนสหรัฐฯ ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นของสาเหตุแห่งปัญหาที่มีการพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแค่นี้ก็เครียดเต็มทีแล้วครับ

ผมมั่นใจว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยคงจะจับตาดูสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีแผนอยู่แล้วในใจว่าจะสู้อย่างไร จะเอาตัวรอดอย่างไร? หากเศรษฐกิจโลกจะซวดเซจริงๆ อย่างที่หลายๆ ฝ่ายห่วงใย

ยังไงๆ รัฐบาลของบิ๊กตู่ก็จะรักษาการไปอีกหลายเดือน สมมติว่าเราเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์อย่างที่มีข่าวมาโดยตลอด

รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะท่านรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ดร.สมคิด ที่ไม่ได้ลาออกไปหาเสียงกะเขาด้วย อย่าลืมคิดเผื่อๆ เอาไว้บ้างนะครับ ระหว่างรักษาการต้นปีหน้า…อย่าเผลอไปหาเสียงกันซะหมดทั้งรัฐบาลก็แล้วกัน.

“ซูม”