“เหลื่อมลํ้า” แต่ “ไม่ร้อน” ด้วย “วิถีพัฒนา” แบบไทยๆ

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงช่องว่างของความแตกต่างระหว่างรายได้ของประชากร กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดกับประชากรกลุ่มที่มีรายได้ตํ่าสุดของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขที่ท่านรองเลขาธิการสภาพัฒน์บอกกับนักข่าวก็คือ ในปี 2550 ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากร 2 กลุ่มนี้ อยู่ที่ 25 เท่าเศษๆ และได้ลดลงเหลือ 19 เท่าเศษๆ ในปี 2560 หรือ 10 ปีให้หลัง

เผอิญว่าตัวเลขของท่านรองฯ เป็นค่าเฉลี่ยของรายได้ระหว่างกลุ่ม 2 กลุ่มดังกล่าว จึงออกมาสวยพอสมควร และดูไม่ห่างจนน่าตกใจเท่าไรนัก

แต่ในช่วงหลังๆ นี้ มักมีตัวเลขที่น่าตกใจและพอเป็นข่าวทีไรคนก็มักจะเปรียบเทียบขึ้นมาทีนั้น ได้แก่ ตัวเลขอันดับคนรวยของโลก และของประเทศต่างๆ ที่ประกาศออกมาโดย นิตยสารฟอร์บส์ ในแต่ละปี

ยกตัวอย่างปีล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า ผู้มีทรัพย์สินมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ “เจ้าสัว จ.” เจ้าของสินค้า “เบียร์ตราม้า”

มีทรัพย์สินทั้งสิ้นมูลค่า 17,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 590,700 ล้านบาท (ชื่อสมมติ สินค้าสมมติ เพื่อความสบายใจในการ วิเคราะห์นะครับ แต่ตัวเลขทรัพย์สินของจริง)

ขณะเดียวกัน ผู้ร่ำรวยอันดับ 2 ของไทยแลนด์ ได้แก่ “เจ้าสัว ธ.” เจ้าของ “บริษัทซีแพ็ค” (ชื่อสมมติและบริษัทสมมติเช่นกัน) มีทรัพย์สินรวมกัน 14,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 491,700 ล้านบาท

หากเรานำทรัพย์สินของทั้ง 2 เจ้าสัวไปเทียบกับทรัพย์สินของคนไทยที่ยากจน โดยสมมติไว้ก่อนว่า คนยากจนมีทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 1 แสนบาท เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบได้ (ของจริงอาจน้อยกว่านี้ด้วยซํ้า) เราก็จะพบว่าช่องว่างระหว่าง เจ้าสัว จ. กับคนจนคนนั้นจะต่างกันถึง 5,907,000 เท่า หรือประมาณ 6 ล้านเท่า ในขณะที่ “เจ้าสัว ธ.” ก็จะต่างกับคนจนไทยถึง 4,917,000 เท่า หรือประมาณ 5 ล้านเท่า

เรียกว่าต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยละ…ไม่ใช่ 25 เท่า หรือ 19 เท่า อย่างที่ท่านรองสภาพัฒน์ท่านชี้แจงไว้

พอเห็นตัวเลขนี้ ใครมาบอกว่าความเหลื่อมล้ำของไทยเราสูงสุดในโลก ก็เลยเชื่อไปเสียหมด

ทั้งๆ ที่ตัวเลขข้อมูลคนรวยในอเมริกา หากนำไปเทียบกับคนจนทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ยในอเมริกา จะยิ่งหนักกว่านี้เยอะ

ไม่เชื่อก็ลองเอาทรัพย์สินของนาย เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของ อเมซอน ดอทคอม หรือนาย บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง ไมโครซอฟท์ และนาย ฯลฯ ไปเทียบกับรายได้คนจนอเมริกันดูเถอะ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนาของระบบทุนนิยมก็จะเป็นอย่างนี้หมด คนรวยมีแต่จะรวยขึ้นแบบเงินต่อเงิน

ช่องว่างจึงเกิดขึ้นในทุกประเทศ และเป็นปัญหาที่เขาหยิบยกมาพูดกันเป็นประเด็นหลักของโลกในขณะนี้

สำหรับประเทศไทยเรานับว่าโชคดีมาก ที่ตลอดเวลาของการพัฒนาที่ผ่านมา เรามิได้เน้นในเรื่องการเพิ่มรายได้อย่างเดียว แต่เน้นในเรื่องการพัฒนา “ความจำเป็นพื้นฐาน” ที่เรียกกันว่า จปฐ. สำหรับมนุษย์ทั่วไปควบคู่ไปด้วย

ใช้คำสอนของพุทธศาสนา เรื่องปัจจัย 4 เป็นหลัก ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค นั่นเอง

โดยนำมาขยายความเพิ่มเติมใส่ความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ เช่น ถนน, ไฟฟ้า, ประปา ฯลฯ กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาและตัวชี้วัดการพัฒนา มอบหมายให้กรมพัฒนาชุมชนทำหน้าที่จัดเก็บตัวเลข เพื่อนำมาใช้ประเมินการพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2525 จนถึงบัดนี้

ถ้าเอารายได้หรือทรัพย์สินมาวัดอย่างเดียว “เจ้าสัว จ.” หรือ “เจ้าสัว ธ.” อาจมีมากมายแตกต่างจากคนยากจนไทยเหมือนฟ้ากับเหวอย่างที่ว่า

แต่ตราบใดที่คนไทยมีอาหารรับประทาน มีบ้านหลังเล็กๆ คุ้มฝน มียารักษาโรค ซึ่งเดี๋ยวนี้ 30 บาท ก็สามารถรักษาได้ทุกโรค…ความโกรธ ความแค้น ความไม่พอใจ หรือความรู้สึกแตกต่างก็จะลดลงไปหรือไม่มีเลย

โชคดีที่เราเดินมาในเส้นทางนี้โดยตลอด พร้อมกับยึดมั่นใน พระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการพัฒนา ทำให้สังคมไทยยังอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

ผมจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาเพื่อลดช่องว่างรายได้เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ขอให้ดำเนินต่อไปเถอะ แต่ห้ามลืมเรื่อง “จปฐ.” และแนวพระราชดำริในการพัฒนาของในหลวง ร.9 อย่างเด็ดขาด

รับรองคนไทยจะอยู่กันได้อย่างสมานฉันท์ตลอดไป.

“ซูม”