พุทธศิลป์จีนโบราณ บนหอชมวิว “ใบหยก”

จริงๆ แล้วยังมีเรื่องราวของรัสเซียที่อยากจะเขียนถึงอีกสักตอน 2 ตอน โดยเฉพาะเรื่องความสุข ความบันเทิงของเขา ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

แต่เผอิญว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสไปร่วมงานเสวนามาเสวนาหนึ่ง และได้มีโอกาสเดินชมนิทรรศการที่เขาจัดแสดงประกอบเสวนาดังกล่าวมาด้วย

ขออนุญาตนำมาเขียนแซงคิวก่อนก็แล้วกัน เพราะหากผัดผ่อนออกไปเดี๋ยวเขาจะเก็บนิทรรศการเสียก่อน จะทำให้ท่านผู้อ่านที่มีความประสงค์จะไปดูชมต้องพลาดโอกาสเสียเปล่าๆ

งานเสวนาที่ว่านี้ จัดขึ้นที่ โรงแรมใบหยก สกาย ย่านประตูน้ำ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ในหัวข้อเรื่อง “เจาะเวลาหาอดีตสัมพันธ์ไทย-จีน” เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนในการฟื้นฟูสัมพันธภาพไทยจีน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วมาเล่าความหลังสู่กันฟังว่า จากที่เคยเป็นศัตรูคู่แค้น เพราะจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ไทยเป็นฝ่ายเสรีนิยม แต่กลับมาเป็นมิตรสนิทสนมกันได้อย่างเหลือเชื่อ

ย่อมจะมี “เรื่องเล่า” ทำนองเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่หากไม่นำมาพูดถึงเสียบ้างก็อาจจะลืมกันไปเสียหมด…

คณะผู้จัดจึงได้เชิญผู้เสวนา อาทิ คุณ วรรณไว พัธโนทัย บุตรคุณ สังข์ พัธโนทัย ที่เคยไปเป็นตัวประกันอยู่ภายใต้การชุบเลี้ยงของท่าน โจว เอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่หลายปี และ ฯพณฯ ก่วนมู่ อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นนักการทูตรุ่นแรกๆ ที่มาประจำในประเทศไทย ภายหลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ไปเปิดสัมพันธไมตรี จับมือท่าน เหมา เจ๋อตง และลงนามกับท่านโจว เอินไหล เมื่อครั้งกระโน้น

รวมทั้งคุณ อำพล ถาวรโลหะ หรือ “อาเต๋า” ที่ได้รับมอบหมายให้นำคณะนักข่าวกีฬาอาวุโสจากประเทศไทยไปเยือนจีนเป็นชุดแรก ให้กลับมาเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังในอดีต

ในขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังของการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีอีกท่านหนึ่งได้แก่ คุณ เล็งเลิศ ใบหยก นักธุรกิจจีน ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนในอดีตอย่างแนบแน่น และมีส่วนอย่างมากในการอยู่เบื้องหลังการเดินทางไปสัมผัสมือกับท่านประธานเหมา ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จนหนังสือพิมพ์ยุคก่อนยกให้เป็น “ตอม่อ” หรือ “เสาหลัก” ที่ใช้ในการพาดสะพานให้นายกรัฐมนตรีไทยเดินไปสู่ประเทศจีนเลยทีเดียว

คุณเล็งเลิศถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว แต่บุตรชายของท่าน ในฐานะผู้บริหารธุรกิจแทนท่าน รวมทั้ง โรงแรมใบหยก ทั้ง 2 แห่ง ก็ขันอาสามาร่วมจัดงานเสวนารำลึกความหลังครั้งนี้ ด้วยการเปิดห้องประชุมชั้น 19 ให้เป็นเวทีสัมมนาต้อนรับผู้สนใจที่เข้ามาฟังจนแน่นขนัดไปหมด

ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังมอบชั้นที่ 77 ของตึก ใบหยกสกาย ให้เป็นที่ตั้งแสดงนิทรรศการ “พุทธศิลป์จีนโบราณ” รวมของเก่าแก่ ของศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่ากว่า 100 ชิ้น พร้อมกับนำภาพเก่าๆเมื่อครั้งมีการฟื้นสัมพันธไมตรีใหม่ๆของทั้ง 2 ประเทศมาให้ดูประกอบด้วย

เราคงไม่ลงลึกไปในเรื่องความหลังของการฟื้นฟูมิตรภาพไทยจีนนะครับ เพราะเป็นเรื่องราวเชิงสาระ ที่หากมีโอกาสจะนำบางส่วนไปเขียนถึงในคอลัมน์ปกติจะเหมาะสมกว่า

สำหรับคอลัมน์ซอกแซก ซึ่งเป็นคอลัมน์กึ่งท่องเที่ยว กึ่งบันเทิงเริงใจ ขอนำท่านผู้อ่านไปที่นิทรรศการ “พุทธศิลป์จีนโบราณ” เพียงประการเดียวก็แล้วกัน

การแสดงนิทรรศการชุดนี้อยู่บนชั้น 77 ซึ่งเป็นชั้นชมวิวของโรงแรมใบหยกสกาย มีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาจีนพรั่งพร้อม

ผ่านประตูเข้าไปเบื้องแรกก็จะพบกับนิทรรศการของเก่าในรัชสมัย ร.5 เช่น เครื่องเบญจรงค์ต่างๆ ที่หาดูยาก รวมทั้งพระบรมรูปปั้นของพระปิยมหาราช หล่อปูนปิดทองฝังด้วยอัญมณี ที่มีอายุไม่ตํ่ากว่า 100 ปี

ในส่วนของพุทธศิลป์นั้น จะเป็นของจีนถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งที่เป็นหยก ทองสำริด และโลหะผสม เช่น พระศรีอริยเมตไตรย, พระโพธิสัตว์ หลายๆ ปาง โดยจะมีของอินเดียและศิลปะชวามาผสมผสานบ้าง เช่น พระพุทธรูปปางทรมานกาย ที่หล่อปั้นในแบบอินเดีย ให้เห็นถึงสรีระที่เต็มไปด้วยหนังหุ้มกระดูกอย่างเด่นชัด และปางประสูติ ที่ทรงเดินบนดอกบัวและชูนิ้วชี้มือขวาขึ้นเหนือศีรษะนี้ เป็นต้น

แต่ที่ถือเป็นจุดเด่นสุดของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ รูปปั้นปูนเพชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อายุกว่า 150 ปี ที่ตามตำนานกล่าวว่า สมเด็จโตได้สร้างและปลุกเสก เพื่อมอบให้แก่ศิษยานุศิษย์ชาวจีน ที่จะอัญเชิญไปสักการบูชา ณ ประเทศจีน

แต่ก็ปรากฏว่าคณะศิษย์ชุดดังกล่าวไม่สามารถเดินทางกลับไปได้ด้วยเหตุสุดวิสัยบางประการ รูปปั้น สมเด็จโต ที่มีอักษรภาษาจีนจารึกไว้ด้านหลังองค์นี้ จึงยังอยู่ในประเทศไทยมาจนถึงบัดนี้ และกลับมาเป็นสมบัติของผู้ใกล้ชิดสมเด็จโตท่านหนึ่ง ซึ่งต่อมาทายาทของท่านเป็นผู้รับช่วงต่อ และได้นำมามอบให้แก่ คุณอำพล ถาวรโลหะ หรือ อาเต๋า หัวหน้าทีมที่นำผู้สื่อข่าวกีฬาไทยชุดแรกไปเยือนจีนนั่นเอง

อาเต๋าจึงนำรูปปั้นสมเด็จโต พร้อมด้วยพุทธศิลป์ต่างๆ ที่สะสมไว้มาจัดแสดงนิทรรศการ ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาขึ้นดูวิวบนตึกใบหยกสกาย ได้ชื่นชมและกราบไหว้ พร้อมๆ กับการจัดเสวนาดังกล่าว

ผมยังนึกเสียดายที่นิทรรศการชุดนี้ไปอยู่ในชั้นชมวิว ทำให้ใครก็ตามที่ประสงค์จะขึ้นไปชมนิทรรศการ จะต้องเสียค่าขึ้นหอชมวิวด้วย ในราคา 400 บาท แต่ถ้านึกเสียว่าการขึ้นไปชมวิวบนยอดตึกชั้น 77 ที่ว่านี้ และยังขึ้นไปได้ถึงชั้น 84 ซึ่งจะเป็นดาดฟ้าหมุน เห็นกรุงเทพฯ ได้ 360 องศา ก็เป็นประสบการณ์ที่เราควรสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต ผมก็ฝากไว้พิจารณาด้วย

เพราะปกติ 400 บาทนั้น ได้แค่ชมวิวเฉยๆ แต่ช่วงนี้จะได้ไหว้สมเด็จโต และชมพุทธศิลป์ต่างๆ ด้วย จะมีไปจนถึงวันที่ 22 ธันวาคมนี้เท่านั้นเองครับ.

“ซูม”