ทิศทางเศรษฐกิจไทย วัดได้จาก “ลอยกระทง”

วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 หรือวันเพ็ญเดือน 12 วันแห่งการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวไทย ผ่านการ “ลอยกระทง” ตามสายน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ

เคยมีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นพี่ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ตั้งแต่ผมเรียนหนังสือจบใหม่ๆ เมื่อ 50 กว่าปีก่อนโน้นว่า “วันลอยกระทง” เป็นดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่ดีที่สุดดัชนีหนึ่งสำหรับประเทศไทย

เพราะเราจะสามารถรู้ได้ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังคืนลอยกระทงเลยว่า เศรษฐกิจไทย ณ เวลานั้นอยู่ในสภาพเช่นไร? จากพฤติกรรมของประชาชนที่แสดงออกในวันลอยกระทงของแต่ละปีนั้นๆ

ถ้าผู้คนออกมาลอยกระทงกันมาก ทุกริมฝั่ง ทุกท่าน้ำที่จัดไว้ ผู้คนแน่นเอี้ยดไปหมด แม่ค้ากระทงขายดีจนเย็บไม่ทัน ข้าวปลาอาหารตลอดจนเครื่องดื่ม ทั้งเมาและไม่เมาขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า

มองไปในสายน้ำของแต่ละแม่น้ำ เห็นกระทงลอยยาวเหยียด หรือถ้าที่ใดเป็นสระน้ำก็มองเห็นกระทงเบียดเสียดจนเต็มไปทั้งสระสว่างไสว

สรุปได้เลยว่าเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นดีร้อยเปอร์เซ็นต์

ในทางตรงข้าม ถ้าผู้คนหงอยเหงารีบลอยรีบกลับบ้าน และส่วนใหญ่ทำกระทงมาจากบ้านเอง แม่ค้าขายกระทงเหลือกองเบ้อเร่อเบ้อร่า ข้าวปลาอาหารขายไม่ออกเหลือเป็นครึ่งหม้อครึ่งไห แถมเครื่องดื่มอย่าว่าแต่น้ำเมาเลย น้ำเปล่าๆ ยังแทบไม่มีคนสั่ง

สรุปได้เช่นกันว่าเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนั้นซบเซาแน่นอน

ผมเชื่อข้อสังเกตของรุ่นพี่ข้อนี้มาตลอด และเมื่อนำมาสังเกตด้วยตนเองขณะที่นั่งเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้ยิ่งทำให้เชื่อสนิทใจ

ปี 2527 นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เศรษฐกิจของประเทศฝืดเคืองซบเซาจำเป็นต้องลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ของปีดังกล่าวก่อนลอยกระทง 5 วัน

ทำให้วันลอยกระทงปี 2527 เป็นวันที่เหงาที่สุดปีหนึ่งของประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่จับเจ่าอยู่กับบ้านเปิดโทรทัศน์เป็นเพื่อน

และแล้วในคืนลอยกระทงอันหงอยเหงาปีนั้นเองก็เกิดข่าวใหญ่ขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เมื่อนายทหารใหญ่ท่านหนึ่งออกมาตำหนิรัฐบาลเรื่องลดค่าเงินบาทด้วยนํ้าเสียงดุดันผ่านจอโทรทัศน์จนทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารเสียอีกกระมัง

แต่ พล.อ.เปรมก็แก้ไขสถานการณ์โดยโยกย้ายนายทหารท่านนั้นให้พ้นจากตำแหน่งคุมกำลัง ทำให้การปฏิวัติรัฐประหารไม่เกิดขึ้น

1 ปีผ่านไป ผลจากการลดค่าเงินบาทก่อนลอยกระทง 2527 ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาพุ่งกระฉูดอย่างเหลือเชื่อ ส่งออกดี การท่องเที่ยวดี อะไรๆ ก็ดีไปหมดในปี 2528

ทำให้วันลอยกระทง 2528 เป็นวันที่คนไทยออกมาสนุกสุดเหวี่ยงมากที่สุดวันหนึ่งของประวัติศาสตร์ลอยกระทง บ้านผมอยู่ใกล้เส้นทางจะไปสวนสยาม ปรากฏว่ากว่าจะกลับถึงบ้านแทบแย่ เพราะรถติดตึ้บไปหมด เพราะผู้คนแห่ไปเที่ยวสวนสยามมืดฟ้ามัวดิน

แถวๆ บางกะปิมีสระนํ้าเล็กๆ ก็มีผู้คนไปลอยกระทงแน่นขนัด

แม่ค้าข้าวแกงขายดี ถึงขนาดต้องหุงข้าวหม้อยักษ์ถึง 3 หม้อในคืนนั้น

นับตั้งแต่คืนลอยกระทง 2528 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็ดีวันดีคืน จนได้รับฉายาว่า “เสือตัวใหม่” ของเอเชีย และป๋าเปรมก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศ

เป็นต้นทุนให้ผู้นำรุ่นถัดมาถลุงจนเศรษฐกิจของประเทศล้มครืนไป เพราะวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในภายหลัง

ปีนี้ 2561 จะเป็นเช่นนั้นไหมหนอ? สภาพัฒน์เพิ่งแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ลดลงไปเหลือ 3.3% เมื่อเทียบกับ 4.6% ของไตรมาสก่อน เพราะรายได้ประเทศหดลงทั้งด้านส่งออกและท่องเที่ยว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็แถลงผลสำรวจว่า ปีนี้ลอยกระทงจะไม่คึกคัก เงินสะพัดจะลดลงถึง 2.3 เปอร์เซ็นต์

โปรดอย่าลืมลุ้นด้วยนะครับบิ๊กตู่ครับ ว่าลอยกระทงคืนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง? ถ้ายังสนุกสุดเหวี่ยงก็แสดงว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ทรุดมากอย่างที่คิด หามาตรการอะไรมากระตุ้นสักหน่อย ไตรมาสสุดท้าย หรือต้นปีหน้าอาจจะดีขึ้น

แต่ถ้าหงอยหรือกร่อยๆ สุดขีดละก็คงต้องคิดหนัก และคิดนานหน่อยนะครับลุงตู่ และเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่ถึงกับถดถอย แต่จะฝืดลงไม่น้อยในปีหน้าได้ตั้งแต่บัดนี้เลย.

“ซูม”