พิเภกสวามิภักดิ์ “โขน” ที่ไม่อยากให้พลาด

ตามโปรแกรมที่ทีมงานซอกแซกวางไว้สัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “รัสเซีย” ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะจะว่ากันถึงกรุงมอสโก เมืองหลวงปัจจุบันของชาวหมีขาว

แต่ปรากฏว่ามีการแสดงพิเศษที่ทีมงานซอกแซกไปดูชมมาแล้ว อยากให้ท่านผู้อ่านลองไปชมกันบ้าง เกรงว่าปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป เดี๋ยวจะพลาดโอกาสกันเสียเปล่าๆ

การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นั่นแหละครับ

ลงโรงมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (เสาร์ที่ 3 พ.ย. รวม 2 รอบ บ่ายคํ่า) และจะมีการแสดงต่อไปจนถึงวันพุธที่ 5 ธันวาคม ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

เวลา 1 เดือนนี่เร็วนะครับ เผลอแผล็บเดียวผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ทีมงานซอกแซกจึงตัดสินใจแซงคิว หยิบเรื่อง “โขน” ชุดนี้มาเขียนก่อน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้รับทราบโดยเร็ว จะได้หาเวลาหาโอกาสไปดูชมกันได้อย่างทันท่วงที

ขึ้นชื่อว่า “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” แล้วไม่มีคำว่าผิดหวังครับ ดูเมื่อไรก็ประทับใจเมื่อนั้น และสำหรับทีมงานซอกแซกแล้วไม่เคยพลาดแม้แต่ครั้งเดียว

เปิดแสดงมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง นับตั้งแต่ 2550 รวมทั้งสิ้น 6 ตอน ได้แก่ พรหมาศ (2550-2552-2558), นางลอย (2553), ศึกมัยราพณ์ (2554), จองถนน (2555), โมกขศักดิ์ (2556), นาคบาศ (2557)…ทีมงานซอกแซกตามไปดูทุกตอนไม่เคยพลาด

แม้แต่ตอน “พรหมาศ” ที่แสดงถึง 3 ครั้ง 3 ครา ก็ไปดูทุกครา รวมทั้งคราล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2558 ก็ไปดูเช่นกัน

นอกจากดูแล้วก็จะนำมาเขียนเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านไปดูด้วยทุกครั้งไปไม่เคยขาดเลย

ดังนั้นเมื่อทราบว่าการแสดงครั้งที่ 9 ซึ่งจะนำเสนอตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” อันเป็นตอนใหม่เอี่ยมถอดด้าม ไม่เคยแสดงมาก่อน ทีมงานจึงรอคอยด้วยความตื่นเต้น และก็ไม่ผิดหวังแม้แต่น้อย หลังจากได้ไปดูชมในรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

จะ “ผิดหวัง” ได้อย่างไรล่ะครับ เพราะทีมงานสำคัญทั้งหมดยังเป็นชุดเดิม คนเดิมแทบทั้งสิ้น เริ่มจากอาจารย์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง จัดทำบทและคำบรรยาย, อาจารย์ สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก

รวมทั้งอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่อง ประดับอันระยิบระยับแพรว พราวไม่มีโขนคณะไหนในประเทศไทยจะสู้ได้

ด้วยฝีมือของท่านเหล่านี้แหละครับ ทำให้โขนตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ยังคงความยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งในด้านฉาก ด้านแสงสีเสียง ด้านเครื่องแต่งกาย และบทร้องบทรำ บทพากย์ ฯลฯ ไม่แพ้การแสดงทั้ง 8 ครั้งที่ผ่านมา

คณะกรรมการจัดการแสดงโขนชุดนี้เปิดเผยความในใจไว้ในสูจิบัตร ตอนหนึ่งว่า “โขนชุดพิเภกสวามิภักดิ์ ใช้เวลาเตรียมการเป็นเวลายาวนาน เดิมจะจัดแสดงใน พ.ศ.2559 แต่เนื่องจากชาวไทยทุกคนประสบกับความสูญเสียเศร้าโศก จากการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวรรคต อันเป็นความวิปโยคอย่างที่สุดที่มิเคยประสบมาก่อน จึงหยุดรอมาจนถึง พ.ศ.2561”

“การแสดงโขนตอนนี้ได้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ อย่างยิ่งใหญ่ตระการตาทั้งในส่วนของฉาก เครื่องแต่งกาย บทร้อง ทำนองเพลง เพื่อเป็นโอกาสที่จะร่วมเฉลิมฉลองในวาระมหามงคลที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสืบสันตติวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา”

สำหรับเนื้อหาของโขนชุดนี้ จะเริ่มจากการนิมิตฝันของทศกัณฐ์แล้วให้พิเภกทำนาย ซึ่งจากการทำนายอย่างตรงไปตรงมา และสรุปว่าวิธีแก้ฝันร้าย คือต้องส่งนางสีดาคืนพระราม ทำให้ทศกัณฐ์โกรธ ขับไล่พิเภกออกจากกรุงลงกา

จากนั้นพิเภกก็ลงเรือเดินสมุทรไปยังค่ายพระราม และถวายสัตย์รับใช้พระราม จนช่วยให้พระรามชนะศึกหลายครั้ง ทศกัณฐ์จึงตัดสินใจกำจัดพิเภก ซึ่งก็จบลงด้วยการกำจัดไม่สำเร็จ แต่ก็มีดราม่าให้ตื่นตาตื่นใจตลอดเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงของการแสดง

ฉากสวยงามที่เรียกเสียงปรมมือได้เกรียวกราวมีหลายฉาก เช่น ท้องพระโรงกรุงลงกา (สวยมาก), ฉากวังของพิเภก ตอนสั่งลา นางตรีชฎา ภรรยา และ เบญจกาย ลูกสาว (สวยมาก) และฉากเรือสำเภาที่นำพิเภกข้ามทะเลจากลงกาไปสู่พลับพลาพระราม ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งก็สวยมากเช่นกัน

สำหรับทีมพากย์และเจรจาส่วนใหญ่ก็ใช้ชุดเดิมมีเพิ่มเติมมาบ้าง 2-3 ท่าน ส่วนวงปี่พาทย์และการขับร้องส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นคนเดิมๆ เช่นกัน เพราะสุ้มเสียงไพเราะจับใจเหมือนเดิมทุกประการ

การแสดงรอบทั่วไปสำหรับประชาชนจะอยู่ในวันเสาร์-อาทิตย์เพียง 2 วันเท่านั้น แสดงบ่ายบ้าง ค่ำบ้าง โปรดดูรายละเอียดได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ส่วนวันอังคารถึงศุกร์จะเป็นรอบนักเรียน ขอเชิญโรงเรียนที่สนใจติดต่อจับจองได้ทาง ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ เช่นเดิม

สนนราคาตั้งแต่ 180 บาท สำหรับนักเรียนไปจนถึง 400/600/800/1,000/1,500/1,800 รายได้เพื่อสมทบทุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสิ้น

รอบแรกเริ่มแล้วเมื่อวานนี้ (เสาร์ที่ 3 พ.ย.) และจะแสดงถึงวันสุดท้ายพุธที่ 5 ธันวาคม 2561 ทราบว่าขณะนี้ยังมีบัตรที่นั่งเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ทีมงานซอกแซกอยากให้ไปดูเต็มๆ ทุกรอบ และถ้าเป็นไปได้อยากให้เพิ่มรอบด้วย

เพราะนี่คือศิลป์แห่งแผ่นดิน และมรดกไทยอันทรงคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นหนึ่งในโลก ที่พวกเราชาวไทยจะต้องช่วยกันฟูมฟักรักษาให้อยู่เคียงคู่ประเทศไทยและคู่โลกใบนี้สืบไปตราบกาลนาน.

“ซูม”