ทดสอบผู้นำประชาธิปไตย ด้วย “เพลง” และ “สื่อสังคม”

ผมเพิ่งจะมีโอกาสเปิดชมและฟังเอ็มวีเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ที่เขาว่ากำลังฮิตจัดมากในขณะนี้ ซึ่งก็คงฮิตจริงๆแหละ เพราะนาทีที่ผมเปิดฟังในยูทูบนั้น เขาขึ้นตัวเลขยอดวิวว่ามีการดูถึง 18,221,184 ครั้ง ผ่านหลัก 18 ล้านครั้งไปสู่ 19 ล้านครั้งเรียบร้อยแล้ว

ทั้งๆ ที่ข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับที่วางอยู่บนโต๊ะข้างหน้าผม ยังพาดหัวว่าทะลัก “14 ล้านวิว” อยู่เลย

ข้อมูลประกอบเอ็มวีระบุไว้ว่า เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2018 นับถึงวันที่ผมเขียนต้นฉบับ 29 ตุลาคม 2018 ก็เพิ่งจะ 7 วันเท่านั้น…7 วัน 18 ล้านวิวเศษเนี่ย ต้องยอมรับว่าแรงจริงๆ

ในเครื่องหมายที่ทำเป็นรูปหัวแม่โป้งชูนิ้วขึ้น ซึ่งแปลว่า “ไลค์” หรือ “ชอบ” นั้น ตัวเลขอยู่ที่ 734,222 และตัวเลขหัวแม่โป้งกดต่ำลง ซึ่งแปลว่า “ไม่ชอบ” อยู่ที่ 16,847

แสดงว่าคนฟังเพลงนี้ชอบมากกว่าไม่ชอบหลายเท่าตัวทีเดียว

แต่ก็มีข้อสังเกตในยูทูบว่าไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย เพราะปกติของเพลงทั่วๆ ไปจะมีช่องแสดงความคิดเห็นที่เรียกกันว่า “คอมเมนต์” หรือ “เมนต์” อย่างย่อๆ ในกลุ่มวัยรุ่นรวมอยู่ด้วย

สำหรับเพลงอื่นๆ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งจะมีแฟนเพลงเข้ามา “เมนต์” แสดงความชื่นชมยาวเหยียด

ผมจึงแปลกใจที่เพลง “ประเทศกูมี” ไม่เปิดให้มีการเมนต์เหมือนเพลงอื่นๆ แต่ก็ไปพบข้อความว่า “เมื่อวานเราได้คุยกับทีมกฎหมาย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราได้ทราบถึงข้อควรกังวลบางอย่าง ซึ่งก็คือประเด็น Comments ใน YouTube”

จากนั้นก็มีข้อความอีกบรรทัดหนึ่งระบุว่า “ความคิดเห็นถูกปิดใช้งานสำหรับวิดีโอนี้” ผมก็เลยถึงบางอ้อว่า นอกจากมีผู้คนเข้าไปฟังจำนวนมากแล้ว การแสดงความคิดเห็นก็คงจะดุดันไม่ใช่เล่น

ทีมงานของคณะผู้จัดทำเพลงแร็ปเพลงนี้ ซึ่งแถลงไว้ตั้งแต่ต้นว่า เนื้อหาของเพลงเขาอยู่ในขอบข่ายกฎหมาย คงจะหวาดเสียวกับคอมเมนต์ต่างๆ จึงไม่มีการเปิดช่องให้แสดงความคิดเห็นเหมือนเพลงอื่นใด

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องไปหาข้อมูลกันเอาเองนะครับ

สำหรับผมเมื่อฟังจบแล้วก็นึกถึงข้อเขียนของเพื่อนๆ ผมหลายคนที่เขียนไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าตำรวจเฉยๆ เสียไม่ออกมาขู่ว่าจะเล่นงานโน่นนี่ก็คงจะไม่มีใครฟังเพลงนี้มากนัก

นี่ท่านส่งมือระดับ “พี่ศรี” ของผมมาเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าพี่ศรีจับงานอะไรก็เรียกแขกได้มากงานนั้น

ขณะเดียวกันผมก็เห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของบิ๊กตู่และผู้ใหญ่หลายๆ คน ที่ไม่แสดงความเห็นอะไรมาก ไม่แสดงความโกรธอย่างแจ้งชัด ส่วนใหญ่จะเฉยๆ เสียมากกว่า ซึ่งผมว่าถูกต้องแล้ว เพราะถ้ายิ่งแสดงออกมาเท่าไรก็จะเป็นการเพิ่มยอดวิวได้มากขึ้นไปอีกเท่านั้น

ที่สำคัญผมมองว่านี่คือบททดสอบสำหรับ “บิ๊กตู่” บทหนึ่งที่จะเดินหน้าเข้ามาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่โหดร้ายพอสมควรสำหรับใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลหรือหัวหน้ารัฐบาล

เพราะจะต้องเผชิญกับการอภิปรายที่ดุเดือดใช้ถ้อยคำรุนแรง ทั้งในสภาและนอกสภา…จะต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนและสื่อมวลชนที่อาจไม่ใช้คำแรงแต่จะเป็นคำที่ฟังแล้วเจ็บปวด

วันใดที่มีการชุมนุมมีการเรียกร้องถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในแผ่นป้ายเรียกร้องหลายๆ ป้ายจะเต็มไปด้วยคำด่าหรือคำบริภาษที่หนักหน่วง

การเมืองไทยและคนไทยเราเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เท่าที่ผมเห็นมาตั้งแต่ผมเป็นเด็กจนแก่ก็เป็นอย่างนี้ มิหนำซ้ำในระยะหลังๆ ตอนผมใกล้แก่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ยิ่งต่อไปการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียจะมีมากขึ้น ก็จะยิ่งวิพากษ์วิจารณ์อย่างดิบๆ และดุเดือดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

การฝึกความอดทนเอาไว้ การรู้ว่าอะไรควรโต้ตอบ ไม่ควรโต้ตอบ อะไรควรเงียบ อะไรควรนิ่งเฉยไว้บ้าง จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่จะขันอาสามาบริหารประเทศในช่วงต่อจากนี้ไป

ที่ผ่านมา 2-3 วันนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าบิ๊กตู่ท่านมีความอดทนของท่านอยู่พอสมควร และน่าจะสอบผ่านบทเพลงทดสอบเพลงนี้ไปได้…ผมเอาใจช่วยเต็มที่เลยครับ.

“ซูม”