สงคราม “กาแฟ” วันนี้ สตาร์บัคส์ VS อเมซอน

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆแต่ฮือฮาอยู่ข่าวหนึ่ง กรณี ที่คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ อดีต รมว.คลังของพรรคประชาธิปัตย์ท่านทักท้วงการบริหารงานของ ปตท. รวม 2 เรื่อง

เรื่องแรกท่านไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทลูกของ ปตท.ที่ชื่อ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท โกล์วพลังงาน จำกัด มหาชน ทั้งทางตรงทางอ้อม

ส่วนเรื่องที่ 2 ท่านไม่เห็นด้วยกับการขยายธุรกิจร้านค้าคาเฟ่ อเมซอน ของ ปตท. ที่ดำเนินการแข่งกับภาคเอกชน โดยออกจากปั๊มมาตามห้างและจุดต่างๆ อย่างแพร่หลายในขณะนี้…คุณกรณ์บอกว่าอาจผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่ห้ามไม่ให้รัฐทำธุรกิจแข่งกับประชาชน

ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องบริษัทพลังงาน ขออนุญาตไม่ออกความเห็นใดๆ ในข้อที่ 1

สำหรับเรื่องที่ 2 ผมก็ไม่รู้อะไรมาก จะผิดกฎหมายใด ข้อบัญญัติใด หรือหลักการใดผมไม่แน่ใจทั้งสิ้น แต่ด้วยสามัญสำนึก ผมสนับสนุน ปตท.ครับ อยากให้ ปตท.ดำเนินธุรกิจคาเฟ่อเมซอนต่อไป

เพราะประทับใจคาเฟ่อเมซอนมากตอนไปกัมพูชากับลาวเมื่อ 2 ปีก่อน เห็นพี่น้องชาวกัมพูชากับชาวลาวเข้าคิวดื่มกาแฟอเมซอนของไทยแล้วก็รู้สึกปลื้มมาก และคิดว่าถ้าไม่ใช่มือบริหารอย่าง ปตท. คง จะทำไม่ได้อย่างที่เห็นอย่างแน่นอน

ส่วนตลาดในประเทศผมก็เพิ่งอ่านนิตยสาร Maketeer ฉบับที่ 220 ที่วางแผงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เขาเสนอรายงานวิจัยการตลาดเรื่อง “กาแฟเดือด” พอดิบพอดี

อ่านแล้วก็ต้องสูดปากลั่น เมื่อพบว่า คาเฟ่ อเมซอน ของ ปตท. สามารถยืนหยัดซดหมัดกับกาแฟระดับโลกจากซีแอตเติล ยี่ห้อ สตาร์บัคส์ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

จากมูลค่าตลาดกาแฟเฉพาะที่เป็นร้านกาแฟหรือคอฟฟี่ช็อปบวกร้านโอเลี้ยงเท่านั้นที่ Maketeer ใช้คำว่า “กาแฟนอกบ้าน” ปี 2560 ประมาณ 26,700 ล้านบาทนั้น อยู่ในกำมือของ 2 แบรนด์นี้เป็นส่วนใหญ่

มองจากแง่จำนวนสาขาทั่วประเทศ คาเฟ่อเมซอนเหนือกว่าเยอะ เพราะมีถึง 2,152 สาขา แยกเป็นอยู่ในปั๊ม 1,535 สาขา และนอกปั๊ม 617 สาขา ในขณะที่สตาร์บัคส์ มีทั้งหมด 340 สาขา ส่วนมากจะอยู่ในห้าง สรรพสินค้ารวมถึง 222 สาขา

มองจากผลการสำรวจที่ถามว่า เมื่ออยากกินกาแฟ คุณจะนึกถึงใคร? สตาร์บัคส์ เป็นแชมป์คว้าไป 41 เปอร์เซ็นต์, คาเฟ่อเมซอน รองแชมป์ 39 เปอร์เซ็นต์, อินทนิล คอฟฟี่ อันดับ 3 ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ และ แบล็คแคนยอน อันดับ 4 ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์กว่านิดๆ

แต่สำหรับคำถามที่ว่า คุณซื้อกาแฟร้านไหนดื่มมากที่สุด? อเมซอนกินขาด ครองแชมป์ถึง 46 เปอร์เซ็นต์ สตาร์บัคส์ ที่ 2 ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์, อินทนิล คอฟฟี่ ที่ 3 ประมาณ 4.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมี ออลคาเฟ่ ของเซเว่น-อีเลฟเว่น ไล่มาเป็นที่ 4 ประมาณ 3.6 เปอร์เซ็นต์

รายงานฉบับนี้ระบุว่าปี 2560 สตาร์บัคส์โกยรายได้จากคนไทยไปทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาทเศษ และมีกำไร 885 ล้านบาท

ในส่วนของคาเฟ่อเมซอน รายงานฉบับนี้มิได้ระบุไว้ แต่ที่ผมแอบค้นเพิ่มเติมพบว่า ปี 2560 มีรายได้ 10,256 ล้านบาท หรือเพิ่ม 28 เปอร์เซ็นต์ (มียอดขายกว่า 180 ล้านแก้ว) ชนะสตาร์บัคขาดลอย

ในบทสรุปของ Marketeer บอกว่า “ถึงแม้คาเฟ่อเมซอนจะมีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย แต่กลยุทธ์ที่จะต้องรักษาแชมป์ให้ได้คือต้องไม่ฝากชีวิตไว้กับปั๊มอย่างเดียว แต่ต้องขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาประเภทนอกสถานีบริการ”

สรุปแบบนี้ ปตท.คงยิ้มออก ส่วนคณะกรรมการที่รับเรื่องร้องทุกข์จากคุณกรณ์ไปผมไม่ทราบว่ามีหน่วยไหนบ้าง จะตัดสินว่าอย่างไร? ตัดสินแล้วจะมีผลทำให้ ปตท.ต้องเลิกธุรกิจนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

แต่ในความเห็นผม ยังอยากให้ ปตท.ทำต่อและยิ่งอ่านถึงแผนตะลุยต่างประเทศของเขาแล้วยิ่งอยากใหญ่ เพราะ ปตท.ตั้งเป้าว่าใน 10 ปีข้างหน้า จะขยายสาขาไปต่างประเทศให้มากขึ้น และจะให้มีรายได้จากต่างประเทศถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการขายกาแฟทั้งหมด

ใครจะไปทำได้ถ้าไม่ใช่ ปตท.

แต่ถ้าตะขิดตะขวงใจก็ออกกฎหมายจัดตั้งบริษัทซะใหม่ เป็น “ปตท.ก.” หรือบริษัทปิโตรเลียมและกาแฟแห่งประเทศไทย จำกัด ก็แล้วกัน ค้าขาย 2 อย่างไปเลยครับ.

“ซูม”