อย่าห่วงโลกยุคดิจิทัล ใช้ “สติ+ปัญญา” สู้ได้สบาย

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงสถิติการท่องเน็ต หรือการใช้เน็ตต่อวัน ปรากฏว่าประเทศไทยของเราคว้าแชมป์โลกไปครองเรียบร้อย เพราะมีการใช้เน็ตในทุกอุปกรณ์ เฉลี่ยถึงวันละ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน

หรือหากจะวัดกันที่อุปกรณ์สำคัญอุปกรณ์เดียว อันได้แก่โทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ไทยก็ยังเป็นแชมป์โลกอีกแหละ เพราะใช้เวลาท่องเน็ตทางมือถือถึง 4 ชั่วโมง 56 นาทีต่อวัน มากกว่าประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ ในการใช้โซเชียลมีเดีย อันเป็นที่นิยมสูงสุดของโลกอย่าง เฟซบุ๊ก ก็ปรากฏว่า กทม. หรือ Bangkok ของเราก็ยังเป็นเมือง ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยทางสถิติมีผู้ใช้ถึง 22 ล้านคน (ผมเดาว่าเขาคงรวมตัวเลขของปริมณฑลไว้ด้วย)

สำหรับเฟซบุ๊กนั้น ถ้ามองจากการใช้ทั้งประเทศแชมป์โลก คือ อินเดีย ครับ ประมาณ 350 ล้านคน รองมาคือ สหรัฐฯ 230 ล้านคน บราซิล อันดับ 3 ประมาณ 130 ล้านคน ใกล้เคียงกับอันดับ 4 อินโดนีเซีย

วันนี้เราลองมาดูรายละเอียดกันต่ออีกนิดนะครับว่าคนไทยใช้เน็ตไปในเรื่องใดๆ หรือเพื่อการใดๆ กันบ้าง

ถ้าดูจากเว็บไซต์ที่คนไทยชอบเข้ามากที่สุดคือ www.Google.co.th แล้ว ก็แสดงว่าคนไทยเราคงเข้าไปแสวงหาความรู้หรือเข้าไปค้นหาอะไรต่อมิอะไรจาก Google ซึ่งเป็นเว็บอันดับ 1 ของคนไทยในขณะนี้

ดังคำพูดที่พูดกันติดปากว่า “อากู๋รู้ดีที่สุด” เป็นต้น

แต่พอดูลึกๆ ลงไปว่า “คำ” ที่คนไทยค้นมากที่สุดในอากู๋หรือ Google ได้แก่ คำต่อไปนี้ 1.บอล 2.หนัง 3.ผลบอล 4.facebook 5.แปล 6.เพลง และ 7.หวย แล้ว…เห็นทีจะไม่ใช่ค้นหาความรู้เสียแล้วละ

น่าจะเป็นการใช้เน็ตเพื่อค้นหาความบันเทิงเสียเป็นส่วนมาก และที่น่าสังเกตมากก็คือ “หวย” นั่นแหละครับ ติดอันดับคำค้นอันดับ 7 เลยทีเดียว แสดงว่าไม่ว่าโลกจะก้าวไปอย่างไร สู่ยุคดิจิทัล ยุค 4.0 หรือ 5.0 ในอนาคต…“หวย” ก็ยังเป็นขวัญใจคนไทยอยู่เสมอ

ไปดู โซเชียลมีเดีย กันบ้าง จากตัวเลขที่บอกว่าคนไทย 51 ล้านใช้โซเชียลมีเดีย พบว่า เฟซบุ๊ก เป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยยูทูบ, ไลน์, เฟซบุ๊ก เมสเซสเจอร์, อินสตาแกรม ฯลฯ โดยยอดใช้ผ่านเครื่องมือเคลื่อนที่อาจจะเป็นมือถือ หรือไอแพด รวมทั้งหมดถึง 46 ล้านคน

พูดถึงโทรศัพท์มือถือ เขาก็มีการเจาะตัวเลขให้เห็นว่า ในบรรดาฟังก์ชันต่างๆ ในสมาร์ทโฟนนั้น คนไทยใช้อะไรมากที่สุด? ปรากฏว่าถ่ายรูปสูงสุด (54%) ตามมาด้วยตั้งนาฬิกาปลุก (42%) เช็กข่าวสาร (26%) ตารางนัดหมายประจำวัน (25%), อ่านอีบุ๊กส อีแมกกาซีน (19%), เช็กสภาพอากาศ (18%), ใช้แอปออกกำลังกายสุขภาพ (7%) และใช้จดบันทึกรายการต่างๆ รวมทั้งภารกิจในแต่ละวัน (ไม่ได้ระบุเปอร์เซ็นต์)

อันนี้เห็นด้วยเลย ทุกวันนี้เราใช้มือถือถ่ายรูปมากที่สุด ถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า รวมทั้งชอบถ่ายอาหารเวลาไปรับประทานอาหารกันด้วย จนเกิดคำพูดขึ้นว่า “ถ่ายก่อนกิน” ในยุค 4.0

ไปดูเรื่อง สินค้าออนไลน์ กันบ้าง เขาบอกว่า ปัจจุบันนี้มีคนไทย 11.92 ล้านคน ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางอีคอมเมิร์ซ คิดเป็นมูลค่าการค้าบนออนไลน์ 2,962 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี โดยมียอดใช้จ่ายต่อคนต่อปีอยู่ที่ 248 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,600 บาท

จริงๆ แล้วข้อมูลที่อยู่ในรายการวิจัย 2018 Digital Yearbook สำหรับประเทศไทยยังมีอีกเยอะเลยครับ ที่ผมยกมาบอกกล่าวท่านผู้อ่านใน 2 วันนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น

ลึกๆ แล้วถ้าเราดูให้ดีๆ จะพบว่า ออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต น่าจะมี ประโยชน์ มากกว่า โทษ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เรื่องการค้าการขายและการเงินการธนาคารต่างๆ รวมถึงเรื่องบันเทิงเริงรมย์ และการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งก็เป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์

อาจมีพวกข่าวเฟกข่าวลวงในโซเชียลมีเดียบ้างที่ต้องระวัง ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่ผมเขียนถึงเมื่อวานนี้ว่า ขอให้เราใช้ “สติ” มากๆ ในการเสพเน็ตและโซเชียลต่างๆ

ยังไงๆ โลกเราก็ต้องไปสู่ยุคดิจิทัล ยุคออนไลน์ ยุค 4.0 อะไรที่ว่า ไม่มีทางเลี่ยงได้หรอก…อย่าห่วงเลยครับ ใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้สมาธิ ตามหลักพุทธศาสนานี่แหละ รับรองว่าเราจะสู้ได้และผ่านทุกสิ่งทุกอย่างไปได้ ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วแค่ไหนก็ตาม.

“ซูม”