อย่าดีใจ “จีดีพี” กระฉูด จนลืมปัญหาหลักของชาติ

ผมเพิ่งจะจบข้อเขียนว่าด้วยเรื่องนักเศรษฐศาสตร์ตกงานไปหมาดๆ ตั้งใจว่าจะหลบไปเขียนเรื่องอื่นๆ บ้าง เพราะเขียนเรื่องเกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ถึง 3 วันซ้อน

ปรากฏว่าต้องกลับมาเขียนถึงอีกล่ะครับ เพราะมีการแถลงข่าวโดยท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ท่านใหม่ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ว่าด้วยเรื่องภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ

ท่านเลขาฯ ทศพรแถลงว่า เฉพาะไตรมาส 2 อย่างเดียว จีดีพีของไทยเราขยายตัวถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรกของปีนี้ คือรวมไตรมาสแรกเข้าไปด้วย สูงถึง 4.8 เปอร์เซ็นต์

ทำให้คาดหมายต่อไปได้ว่า จีดีพีทั้งปีของปีนี้น่าจะขยายตัวเกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ หากในช่วงปลายปีเศรษฐกิจไทยยังแรงไม่หยุด

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ท่านรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถึงกับอุทานว่าจีดีพีครึ่งแรกที่ขยายตัวถึง 4.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเติบโตที่น่าพอใจมาก และ “ไม่เคยเห็นตัวเลขระดับนี้มาหลายปีแล้ว”

ผมเองก็ดีใจด้วยครับ และเชื่อว่าใครก็ตามที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเรา คงจะดีใจกันทุกคน พร้อมกับเอาใจช่วยให้จบปีนี้ด้วยการขยายตัวเกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ดังที่คาดหวังไว้

ท่านเลขาฯ ทศพรชี้แจงรายละเอียดด้วยว่า แรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวถึง 4.6% มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มกว่าไตรมาสแรก การลงทุนก็เพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การส่งออกยิ่งเยี่ยมใหญ่ขยายตัวถึง 12.3 เปอร์เซ็นต์

ลงไปดูภาคการผลิตด้านเกษตร ด้านก่อสร้าง ด้านการค้าก็ขยายไปพร้อมๆ กันหมด ยิ่งท่องเที่ยวยิ่งเพิ่มกระฉูดทั้งจำนวนและรายได้ ฯลฯ

ถามผมว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับอัตราความเจริญเติบโตที่สูง จนถึงขนาดที่ท่านรองนายกฯ สมคิดอุทานว่าไม่เคยเห็นตัวเลขในระดับนี้มาก่อน?

ผมคงต้องตอบว่า ผมก็รู้สึกดีใจและพอใจเช่นเดียวกับท่าน เพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก

แต่ในฐานะคนแก่ที่ติดตามเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยมาพอสมควร แม้ตัวเลขต่างๆ จะบอกว่าคนยากจนในบ้านเราลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อนโน้น

ทว่า ก็ยังมีคนเฉียดจน คือพ้นเส้นวัดความยากจนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย อยู่อีกมากในยุคนี้สมัยนี้ที่จะต้องดูแลช่องว่างระหว่างคนรวย 10 เปอร์เซ็นต์ข้างบน กับคนจน 10 เปอร์เซ็นต์ข้างล่างก็ยังถ่างกว้างอยู่เหมือนเดิม และบางครั้งบางหนก็จะมีคนบอกว่าถ่างกว่าเดิมเสียอีก

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ขึ้นแล้ว ความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ก็ตามมา

สภาพัฒน์เองก็เคยศึกษาและพบว่า ลูกหลานของคนรวย 10 เปอร์เซ็นต์บนแย่งที่นั่งในการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยไปถึง 65.8 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ลูกหลานคนจน 10 เปอร์เซ็นต์ล่าง เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยเพียง 4.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

เป็นความเหลื่อมล้ำที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก เพราะถ้าเราเชื่อว่า “การศึกษา” คือเครื่องมือในการทำมาหาเลี้ยงชีพของผู้คน ก็แสดงว่าลูกคนรวยซึ่งการศึกษาดีกว่าจะยังคงรวยต่อไป ในขณะที่ ลูกคนจนที่การศึกษาด้อยกว่าก็จะจนต่อไป

ทุกครั้งที่ใครพูดถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมก็จะฝากให้คิดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำควบคู่ไปด้วยเสมอจนออกจะน่ารำคาญหรือน่าเบื่อหน่ายอยู่บ้างที่ฝากอะไรก็ไม่รู้ซ้ำๆ ซากๆ

ก็ต้องขออภัยด้วยและก็ต้องฝากละครับ ตามประสาคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ มีเวลาอ่านมาก จึงค่อนข้างเชื่อตัวเลขต่างๆ ว่าปัญหาหลักของประเทศชาติในเรื่องนี้ยังมีอยู่และนับวันจะหนักขึ้นไปอีก หากไม่ระมัดระวัง

ผมตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ผมก็ทราบดีว่ารัฐบาลชุดนี้ท่านก็พยายามทำอยู่ แต่สิ่งที่ท่านทำ โดยการ “โอบอุ้ม” คนจนอย่างตรงไปตรงมานั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะถูกทางหรือไม่?

จึงต้องถือโอกาสฝากเป็นข้อสังเกตเอาไว้อีกครั้ง และจะฝากไปเรื่อยๆ หากใครพูดถึงความเจริญเติบโต พูดถึง 4.0 พูดถึงการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศมีรายได้สูงขั้นต้น

ผมก็จะถามทุกครั้งว่า จะมีประโยชน์อะไรล่ะ หากการก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศรายได้สูงจะเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น…แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่เหมือนเดิม?

“ซูม”