อนิจจา! วิชาเศรษฐศาสตร์ จาก “ยอดนิยม” ถึง “เสื่อมนิยม” (ตอนจบ)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลับมาได้รับการยอมรับของรัฐบาลอีกครั้งในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ต่อเนื่องไปจนถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) มีการปฏิบัติตามแผนและโครงการที่วางไว้อย่างจริงจัง

แผนงานใหญ่ที่สุดที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนประเทศที่สำคัญยิ่งก็คือแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” ควบคู่ไปกับการ วางแผนพัฒนาชนบทยากจน แก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องชนบท เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาประเทศ

ดาราเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ในยุคนี้ ได้แก่ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ โดยมีคุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ คุณ สถาพร กวิตานนท์ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นแขนซ้าย แขนขวา

ผมเองมีส่วนร่วมในฐานะผู้ดูแลในด้านการพัฒนาชนบท เป็นผู้ช่วยของคุณโฆสิตก็เลยให้สัมภาษณ์นักข่าวอย่างขำๆ ในยุคโน้นว่า ผมเป็น “นิ้วก้อยมือขวา” ของท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล

ในขณะที่การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการของภาครัฐ เดินหน้าไปอย่างคึกคักในช่วงนี้ การพัฒนาภาคเอกชนก็รุดหน้าไปอย่างสำคัญ โดยการผลักดันของท่านอาจารย์เสนาะ กับ คุณสถาพร กวิตานนท์ ผ่านระบบการประสานงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เรียกกันว่า กรอ.

บริษัทเอกชนเติบโตขึ้นเป็นบริษัทใหญ่ระดับชาติหลายๆ บริษัท ในขณะที่ภาคการเงินการธนาคารก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากธนาคารเล็กๆ ในยุคแผน 1 แผน 2 กลายเป็นธนาคารใหญ่ไปหลายสิบแห่ง

ทำให้มีการรับคนเรียนจบวิชาเศรษฐศาสตร์เข้าทำงานอย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่า ผลิตเท่าไรก็ไม่พอ และภาคเอกชนซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่า จะดูดนักเศรษฐศาสตร์ไปเกือบหมด

เกิดภาวะสมองไหลของนักเศรษฐศาสตร์ จากระบบราชการไปสู่ ภาคเอกชน พร้อมกับการที่ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีประวัติการศึกษาดีจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่เข้าสู่ระบบราชการอยู่พักใหญ่

ผมเองก็เกษียณตัวเองออกจากระบบราชการในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก 4-5 เดือนเห็นจะได้ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาประเทศอย่างลึกซึ้งเหมือนแต่ก่อน

อย่างเก่งก็อ่านจากข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น

เผลอหน่อยเดียว 20 กว่าปีผ่านไปเรียบร้อย และเผลออีกหน่อยเดียวได้ยินข่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์เริ่มตกงาน และคนเรียนเศรษฐศาสตร์น้อยลง มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งต้องปิดคณะเศรษฐศาสตร์ซะแล้ว

มองจากแง่พุทธศาสนาก็ถือเป็นกฎความจริงของชีวิต เมื่อสูงสุด ก็คืนสู่สามัญ ดังที่ผมเขียนเกริ่นไว้ในวันแรก

ทำไมคนเรียนเศรษฐศาสตร์ถึงตกงาน? เขาก็บอกว่า เพราะหลักสูตรกว้างเกินไป หยิบโหย่งเกินไป เรียนอะไรก็ไม่รู้เยอะไปหมด ทำให้ไม่ลึกซึ้ง และไม่เข้ากับยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคของความลึกซึ้ง เฉพาะอย่าง เฉพาะทาง หรือไม่ก็ต้องนอกกรอบฉีกแนวถึงจะ “สตาร์ตอัพ” ได้

ถ้าจะให้สรุปก็คงต้องสรุปว่านักเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่ประคับประคองประเทศผ่านยุค 2.0 มาได้ถึงยุค 3.0 แล้ว จะให้ไป 4.0 อาจต้องเปลี่ยนเป็น นักอย่างอื่นเสียแล้วกระมัง?

ลองไปดูรัฐบาลนี้เถอะ แทบไม่มีนักเศรษฐศาสตร์โดยสายเลือดอยู่เลยนะเนี่ย…ท่านรัฐมนตรีคลังไม่ใช่แน่นอน ท่านจบวิศวะเคมีจุฬาฯ แล้วไปต่อโทด้านบริหารธุรกิจที่เมืองนอก แม้จะผ่านการทำงานด้านการเงินการธนาคารเป็น ผจก.นครหลวงไทยและกรุงไทยมาก่อน แต่ก็น่าจะเป็น นักบริหารธุรกิจ มากกว่านักเศรษฐศาสตร์

ท่านรองสมคิดเคยใช่…แต่ตอนหลังท่านน่าจะเป็น “นักการตลาด” ไปอีกคน เพราะดูท่านเร่งรัดพัฒนาประเทศในแบบเหยียบคันเร่งแรงเหลือเกิน ผิดวิสัยนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

คิดถึง “หม่อมอุ๋ย” อดีตรองนายกฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับ คุณสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ชะมัด ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์เต็มตัว ทำอะไรด้วยความรอบคอบระมัดระวังเดินหน้าแต่ไม่บุ่มบ่าม ตามวิสัยนักเศรษฐศาสตร์แท้ๆ ก็เลยต้องตกงานไป

ก็ขนาดนักเศรษฐศาสตร์ตัวพ่อระดับท่านทั้ง 2 ยังตกงานได้ นักเศรษฐศาสตร์ธรรมดาที่ไหนจะหางานทำได้ล่ะ บอกแล้วไงว่ายุคนี้คงไม่ใช่ยุคของนักเศรษฐศาสตร์แล้วกระมัง?

“ซูม”