เยี่ยม “มังกรไม้หอม” “อันซีน” ล่าสุดเมืองตรัง

อย่างที่หัวหน้าทีมซอกแซกเคยเขียนเกริ่นเอาไว้แหละครับ ว่าเมืองตรังหรือจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์…ไปเที่ยวทีไรก็จะมีเรื่องราวกลับมาเขียนถึงอยู่เสมอ

ไปร่วมพิธีมอบอาคารเรียน “100 ปี กำพล วัชรพล” และเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 (บ้านเกาะเต่า) คราวนี้ก็ได้เรื่อง ของหวาน เมืองตรัง (ร้าน KUANITO) มาเขียนไปแล้ว 1 เรื่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สัปดาห์นี้มาว่ากันต่ออีกเรื่องครับ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้ เพราะเพิ่งจะดังขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีนี่เอง

ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินหรือผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว กับเรื่องราวของ “วังเทพทาโร” หรือ “วังมังกรไม้หอม” ที่อำเภอห้วยยอด อำเภอเดียวกับที่ตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 นี่แหละ

หัวหน้าทีมฯเคยอ่านเจอมาก่อนจากเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ถ้าจำไม่ผิด) ว่า “วัง” ที่ว่านี้ความจริงเป็นสวนขนาดเล็ก แต่ตกแต่งสวยงามมาก

โดยเฉพาะเอารากไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ “เทพทาโร” มาประดิดประดอยเป็นตัวมังกรขนาดต่างๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียงรายตั้งแต่ทางเข้าสู่สวนไปจนถึงกลางสวน และเป็นแลนด์มาร์กของสวนแห่งนี้ ถ่ายรูปออกมาสวยงามวิจิตรตระการตาไม่เบาเลยทีเดียว

นับเป็นโชคดีของทีมงานซอกแซกชุดใหญ่จากไทยรัฐ ที่ได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมและไปเดินลอดท้องมังกรเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะไปร่วมพิธีเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 ในวันถัดมา

ภาพจากเฟสบุ๊ก : วังเทพทาโร แหล่งการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์

และก็โชคดีอีกเช่นกัน ที่มีโอกาสได้พบกับ ครูจรูญ แก้วละเอียด อดีตครูภาษาอังกฤษ ของโรงเรียนห้วยยอด วัย 65 ปี ซึ่งเกษียณออกมาใช้ชีวิตเต็มตัว ที่ “วังเทพทาโร” ที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบุกเบิกปรับปรุง เนื้อที่กว่า 20 ไร่ของบริเวณนี้ให้เป็น “วังมังกรไม้หอม” มาตั้งแต่แรกเริ่ม

อดีตครูภาษาอังกฤษท่านนี้เป็นคนที่สนใจใคร่รู้ และหมั่นเรียนหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา จนวันหนึ่งก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ไม้เทพทาโร ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ของภาคใต้ และเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปรากฏชื่อในจารึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ไม้เทพทาโรเป็นไม้ที่มีความหอมถึง 4 กลิ่น สมัยโบราณเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จวง” หรือ “จวงหอม” ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มักนิยมไปทำยา หรือทำวัตถุมงคลต่างๆ

ไม้จวงหอม เคยเป็นไม้ที่มีอยู่มากในภาคใต้ แต่แล้วจู่ๆก็หายไป ถูกโค่นทิ้งเพื่อนำเนื้อที่ไปปลูกยางพาราเสียเกือบหมด จนปัจจุบันนี้เหลือ ป่าเทพทาโร ให้เห็นน้อยมาก

จะพอมีเยอะเขียวชอุ่มเป็นผืนใหญ่อยู่บ้าง ก็ที่วัดแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น

เมื่อรู้ถึงความมหัศจรรย์ของไม้เทพทาโร ครูจรูญก็ตระเวนกว้านซื้อตอไม้ที่ถูกโค่น และแห้งตายซากตามจังหวัดต่างๆของภาคใต้มาเก็บรวบรวมไว้

พร้อมกับนำมาแกะสลัก และดัดแปลงประดิดประดอยให้เป็นรูปตัวมังกรต่างๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สั้นบ้าง ยาวบ้าง รวมแล้วถึง 88 ตัว

ภาพจากเฟสบุ๊ก : วังเทพทาโร แหล่งการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์

ต่อมาเมื่อเขาพร้อมและได้มรดกที่ดินผืนนี้มาจากญาติผู้ใหญ่ เขาก็เริ่มจัดวางมังกรทั้งหมดไว้ตามมุมต่างๆ ควบคู่ไปกับการปลูกต้นเทพทาโรใหม่ๆ และไม้อย่างอื่นๆเพื่อให้เกิดความเขียวชอุ่มไปทั่วบริเวณรอบๆ

ในที่สุดก็กลายเป็น “วังเทพทาโร” ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

“วัง ในความหมายนี้คือ การล้อม การห้อมล้อม…วังเทพทาโร จึงหมายถึงสถานที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยไม้ เทพทาโร” ครูจรูญกล่าวกับทีมงานของเรา ก่อนจะนำเดินชมบางส่วนของมังกรที่รายเรียงอยู่ในวังแห่งนี้

ตลอดเส้นทางเดินที่เดินผ่าน จะมีคำขวัญที่หยิบยกมาจาก “คำสอนของพ่อ” และปรัชญาหลายๆข้อของพ่อ รวมทั้งปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตั้งไว้เป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมได้มีโอกาสทบทวนคำสอนที่พ่อแห่งแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำไว้อีกครั้งหนึ่ง

แน่นอน คุณครูจรูญพาพวกเราทั้งหมดไปเดินลอดใต้ท้องประตูมังกร 9 ช่องด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล และไปถ่ายรูปที่มังกรตัวที่ 88 ซึ่งเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดของ “วังเทพทาโร” และมีคำว่า “กราบแผ่นดิน” ตัวใหญ่อยู่บนหลังมังกรไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ทำไมถึงเลือกที่จะประดิษฐ์เป็นตัวมังกรล่ะ ทั้งๆที่มีสัตว์อื่นๆอีกตั้งเยอะ? พวกเราถาม ซึ่งครูจรูญก็ตอบว่า “ทุกอย่างเหมือนถูกกำหนดไว้ครับ…ไม่มีเหตุ ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ผมคิดแต่ว่าต้องเป็นมังกรเท่านั้น ไม่เคยคิดถึงอย่างอื่นในหัวสมองผมเลย”

ครูจรูญเล่าด้วยว่า แม้จะลงทุนสะสมไปแล้วเกือบ 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่คิดจะเอาทุนคืน เพราะตั้งใจจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับไม้หอม “เทพทาโร” และปรัชญาต่างๆของในหลวง ร.9

รายได้บางส่วนมาจากการขายสินค้าโอทอปที่เป็นผลิตภัณฑ์ของไม้เทพทาโรบ้าง อย่างอื่นบ้าง ถือเป็นรายได้ทางอ้อมที่ประคองให้แหล่งเรียนรู้แห่งนี้สามารถดำเนินต่อไปได้

ทีมงานซอกแซกขอขอบคุณคุณครู จรูญ แก้วละเอียด ไว้ ณ ที่นี้…ขอบคุณสำหรับมรดกชิ้นเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่มากที่ครูสร้างไว้แก่เมืองตรัง และน่าจะแก่ประเทศไทยด้วย เพราะทราบว่าทุกวันนี้นอกจากจะมีคนไทยแวะเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของไม้ชนิดนี้แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวจีนจากมาเลเซีย และสิงคโปร์เช่ารถมาดูทุกวัน วันละหลายรถตู้

เพื่อจะมาถ่ายรูปกับมังกรที่ทำจากรากไม้เทพทาโรใน “วังเทพทาโร” อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง…ประเทศไทย.

“ซูม”