ร้าน “กวนนิโต” ตรัง ตัวอย่าง “Start up” ภูธร

ไปถึงตรังทั้งทีก็ต้องออกเที่ยวออกหาอะไรรับประทาน ในที่สุดก็ได้ไปรับประทานของหวานที่ร้าน “กวนนิโต พาทิสเซอรี” ของคุณมงคล คงบัน ที่ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง

อร่อยประทับใจทั้งในรสชาติของขนมประดิษฐ์ลูกผสมฝรั่ง+ไทย และความคิดริเริ่มของเด็กหนุ่มเจ้าของร้าน

เขาเล่าถึงวิธีคิดในการจับกลุ่มเป้าหมาย เริ่มต้นด้วยการมุ่งไปที่กลุ่มประชากรที่เกษียณแล้ว ซึ่งมีเงินชอบนั่งนานและชอบซื้อติดมือกลับบ้าน

ร้านของหวานของเขา และขนมหวานของเขา จึงออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มนี้คือ หวานแต่พอควร ไม่ทำลายสุขภาพมากนัก เพราะผู้สูงอายุมักกลัวความหวาน

เมื่อกลุ่มผู้สูงอายุติดใจและบอกต่อๆกันไป ในที่สุดร้าน “กวนนิโต” ของเขาก็ดังไปทั้งเมืองตรัง และดังไปสู่ผู้บริโภคในทุกกลุ่มอายุ

ภาพจาก https://www.facebook.com/KUANITOThailand/

นอกจากสื่อ “ปากต่อปาก” แล้ว เขายังใช้สื่อทันสมัยทุกแขนงโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไล่ตั้งแต่ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์

ขณะเดียวกัน ก็ปรับปรุงผลผลิตเพื่อสนองความต้องการของหลายๆกลุ่ม รวมทั้งปรับปรุงร้านของเขาให้เข้ากับรสนิยมของคนทุกรุ่น

เหนืออื่นใดรสชาติของผลิตภัณฑ์จะต้องอร่อยถูกปากผู้คนด้วย เพื่อให้คนที่มารับประทานครั้งหนึ่งแล้วจะบอกกันต่อไป

ในเชิงประชาสัมพันธ์ นอกจากอาศัยโซเชียลมีเดียดังได้กล่าวแล้ว มงคล คงบัน ยังเอาตัวเองเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่างๆของจังหวัด

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ SME กลุ่ม Start up เขาพร้อมจะเข้าร่วมประชุมร่วมสัมมนาทั้งรับความรู้และเผยแพร่ประสบการณ์ของเขา รวมทั้งพร้อมที่จะไปร่วมจัดนิทรรศการหรือโชว์สินค้าของเขาในทุกแห่งทุกที่

ครั้นเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังผู้คนมาอุดหนุนในร้านค้าของเขามากขึ้น …เขาก็หันไปร่วมมือกับชุมชนในจังหวัดเพื่อนำสินค้าชุมชนมาโชว์และจำหน่ายในร้านของเขาด้วย

เริ่มจากการนำ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ผลิตภัณฑ์โอทอปชื่อดังของจังหวัด มาพัฒนาเป็นสินค้าที่ระลึกภายใต้แบรนด์ “กวนนิโต” ตั้งแต่ถุงผ้า, กระเป๋าผ้า, เป้, ผ้าพันคอ, กระเป๋าใส่มือถือ ฯลฯ เป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนในเขตชนบทโดยตรง

ภาพจาก https://www.facebook.com/KUANITOThailand/

มงคล คงบัน บอกพวกเราว่า “ผมเป็นคนที่นี่เมื่อประสบความสำเร็จก็อดนึกถึงคนบ้านเดียวกันเสียมิได้…คนบ้านเราเป็นคนมีฝีมือ ผมอยากให้เขามีส่วนในความสำเร็จกับเราด้วย”

เด็กหนุ่มคนนี้มิได้จบวิชาการด้านโภชนาการใดๆทั้งสิ้น เขาจบมัธยมจาก โรงเรียนจุฬาภรณ์ตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีหลักสูตรเข้มด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ก่อนจะไปต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แล้วจบวิทยาศาสตรบัณฑิต เอกเคมี

อาศัยว่าเป็นคนที่ชอบแสวงหาและไม่หยุดนิ่ง เมื่อตัดสินใจบอกลางานด้านเคมีกลับสู่บ้านเกิดพร้อมกับความคิดที่ว่าจะทำขนมขายเขาก็หันไปเรียนรู้วิชาทำขนมจากยูทูบ

ส่วนวิชาการตลาด การบริหาร การจัดการ ก็อาศัยเปิดอ่านตำราต่างๆที่วางขายในท้องตลาด ร่วมกับใช้วิชาครูพักลักจำติดตามผลงานของผู้ประสบความสำเร็จต่างๆ

ภาพจาก https://www.facebook.com/KUANITOThailand/

ผมขอเรียนว่าพวกเราจากไทยรัฐที่ไปลิ้มรสของหวานของเขา มิได้กินฟรี เราจ่ายไป 782 บาท สำหรับมื้อนั้น

ที่เขียนให้ถึง 2 วันก็ด้วยความประทับใจจริงๆครับ ในฐานะนักพัฒนาชนบทเก่าถูกใจมาก ที่น้องบอกว่าเมื่อเราประสบความสำเร็จก็อยากให้เพื่อนร่วมท้องถิ่นสำเร็จด้วย…จนเป็นที่มาของการนำ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ของดีเมืองตรังมาจำหน่ายในร้านด้วย

หวังว่าจะมีโอกาสลิ้มรสของหวานแบรนด์ “kuanito” ในศูนย์การค้าใดศูนย์การค้าหนึ่งของ กทม. …ในเวลาไม่นานเกินรอนะครับ และอย่าลืมหอบผ้าทอนาหมื่นศรีมาอวดคนกรุงด้วยล่ะ.

“ซูม”