เด็กไทยกับการพนันบอล ข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒน์

ผมได้รับเอกสารของสภาพัฒน์ว่าด้วย “ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2561” มาหลายวันแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาเปิดอ่านเสียที จนกระทั่งเมื่อวานนี้ เพิ่งจะมีโอกาสหยิบมาพลิกดูอย่างคร่าวๆ

เห็นพาดหัวรายงานชิ้นหนึ่งสะดุดตาสะดุดใจรีบอ่านก่อนรายงานอื่นๆ เพราะเข้ากับเหตุการณ์ที่กำลังฮือฮาอยู่ในบ้านเราและความจริงก็ทั่วโลกด้วยในช่วงเวลานี้

ข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพนั่นแหละครับ พาดหัวในหน้า 12 ของเอกสารสภาพัฒน์ชิ้นนี้อยู่ในหัวข้อ “สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ” มีใจความว่า “เด็กและเยาวชนไทยกับการเล่นพนันทายผลฟุตบอล”

อ่านหัวข่าวปุ๊บก็ต้องรีบอ่านเนื้อข่าวปั๊บว่างั้นเถอะ

รายงานของสภาพัฒน์ฉบับนี้อ้างรายงานเรื่อง “สถานการณ์การพนันในสังคมคนไทยปี 2560” ของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ในการศึกษาปัญหาการพนันของประเทศไทย ทำให้ทราบถึงข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ข้อแรกเลย จากการศึกษาพบว่าคนไทยร้อยละ 54.6 หรือประมาณ 28.9 ล้านคน เล่นการพนันในปี 2560

มากสุดอันดับหนึ่ง ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน รวมกันถึง 17.3 ล้านคน อันดับสอง ได้แก่ เล่นไพ่ 4.1 ล้านคน อันดับสามก็คือ พนันทายผลฟุตบอล นี่แหละครับ มีทั้งสิ้น 2.47 ล้านคน

รายงานของสภาพัฒน์เจาะลึกให้เห็นว่าในจำนวนนักพนันทายผลฟุตบอล 2.47 ล้านคน ในปี 2560 ที่ว่านี้ เป็นนักพนันหน้าใหม่ 1.17 ล้านคน ส่วนวงเงินหมุนเวียนในตลาดการทายพนันผลฟุตบอลนั้นจะอยู่ที่ 140,016 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงไม่เบาเลยทีเดียว

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้นักพนันฟุตบอลส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน แต่ก็มีผู้อยู่ในวัยเด็กและเยาวชนอายุ 15-25 ปี ถึง 6 แสนกว่าคน

ในส่วนที่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกโดยตรงสภาพัฒน์อ้างการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ และศูนย์การศึกษาปัญหาการพนันว่า ในปี 2014 ฟุตบอลโลกที่บราซิล กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขัน

ประมาณ 4.6 ล้านคน เล่นพนันทายผลฟุตบอลและประมาณ 2 ล้านคน เป็นนักพนันหน้าใหม่ และในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 4 คิดว่าจะเล่นพนันทายผลฟุตบอลรายการอื่นต่อไปอีก (หลังบอลโลก)

การสำรวจยังพบด้วยว่า จากคนเล่นพนันทายผลฟุตบอลทั้งหมดมีถึง 303,087 คน ที่ตกเป็นหนี้สินจากการพนันบอลโลก ทำให้บางส่วนเกิดความเครียด ทะเลาะกับคนในครอบครัวและคู่พนัน ไปจนถึงเสียการเรียน เสียงาน และถูกขู่กรรโชกทำร้ายร่างกาย

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาข้อมูลผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 พบว่า ปัญหาที่มีผู้โทรศัพท์มาขอรับคำปรึกษามากที่สุด คือพนันบอล

โดยในช่วงฟุตบอลยูโร 2559 มีผู้โทร.มาปรึกษาเพิ่มสูงกว่าช่วงฟุตบอลโลก 2557 หรือ ค.ศ.2014 ที่บราซิลถึง 8 เท่า

ซึ่งผลในการบำบัดผู้มีปัญหาติดพนันในกลุ่มของผู้ใหญ่พบว่า ร้อยละ 30 สามารถเลิกได้ และร้อยละ 5 กลับไปติดซํ้า ส่วนกลุ่มเยาวชนพบว่า สามารถเลิกได้ร้อยละ 9 และกลับไปเล่นพนันใหม่ และติดซํ้าร้อยละ 5 เช่นกัน

สภาพัฒน์ทิ้งท้ายในรายงานฉบับนี้ด้วยการฝากความห่วงใยไปถึงนักพนันเด็กในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะนักพนันฟุตบอล ซึ่งมีเด็กๆอยู่ไม่น้อย โดยขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันระมัดระวังด้วยในเทศกาลบอลโลกปีนี้

ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการสำรวจศึกษาวิจัยเรื่องการพนัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้นการจะบอกว่าเป็นเท่านั้นคนเท่านี้คน หรือเล่นพนันเท่านั้นบาทเท่านี้บาท จึงควรฟังหูไว้หูอย่าไปเชื่อตัวเลขเสียทั้งหมด

แต่ผมก็เห็นด้วยที่มีการศึกษาและมีข้อเสนอแนะให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง และหาทางป้องกันแก้ไข เพราะผมเองก็เชื่อว่ามีการเล่นการพนันฟุตบอลจริง และมีปัญหาเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ยังไม่เชื่อตัวเลขเท่านั้น

ถือเสียว่าตัวเลขหรือข้อมูลเหล่านี้ แม้จะไม่ถูกเป๊ะๆทั้งหมดแต่ก็คงพอที่จะเป็นเครื่องชี้ที่ทำให้เรารู้สึกตกใจ กังวลใจ และห่วงสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กๆและเยาวชนมากขึ้น

จะหาทางแก้ไขป้องกัน หรือกำราบปราบปรามอย่างไรก็ขอเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาด้วยก็แล้วกันครับ.

“ซูม”