เศรษฐกิจดีแต่ของแพง เหมือนบุญมีแต่กรรมบัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงว่า อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ (2561) สูงถึงร้อยละ 4.8

นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสที่ผ่านมาทำให้คาดหมายได้ว่า เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5

เท่าที่ฟังความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์หลายๆท่าน ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า การคาดการณ์ของสภาพัฒน์น่าจะเชื่อถือได้ เพราะดูจากข้อมูลสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออก การลงทุนของรัฐ รวมไปถึงการท่องเที่ยวล้วนพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือนแรกของปีนี้

เพียงแต่ฝากความห่วงใยเอาไว้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่นิ่ง เพราะยังมีปัจจัยหลายๆอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ในช่วงครึ่งปีที่เหลือ

เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งยังไม่มีอะไรแน่นอนว่าจะลงเอยอย่างไร รวมถึงราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูดมาโดยตลอด แม้จะเริ่มทรงตัวบ้างในช่วงหลังๆ แต่ก็ยังอยู่ในอัตราสูงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ผมอ่านทั้งข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้แล้วก็เห็นด้วยกับทุกๆฝ่ายละครับ

เริ่มจากเห็นด้วยกับถ้อยแถลงของสภาพัฒน์ที่บอกว่า ไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 เพราะดูจากข้อมูลอื่นๆแล้วก็น่าจะเป็นไปได้ตามนั้น

ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับข้อติงเตือนของนักเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่า จะต้องติดตามสถานการณ์โลกในหลายๆด้านในช่วงนี้ไปจนถึงปลายปีอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายๆอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และจะมีผลมาถึงเศรษฐกิจไทยเราได้

โดยเฉพาะปัจจัยในเรื่องราคานํ้ามันที่พุ่งกระฉูดมาตลอดดังที่หลายๆฝ่ายห่วงใย ซึ่งจะมีผลกระทบมาสู่ประเทศไทยของเราโดยตรง

ในฐานะที่นํ้ามันเป็นต้นทุนสำคัญทั้งในการผลิตและการขนส่งสินค้า ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เริ่มเกิดภาวะกดดันขึ้นแก่เศรษฐกิจไทยของเราแล้วไม่มากก็น้อย

การที่ข้าวของเริ่มแพงขึ้น ข้าวปลาอาหารแพงขึ้น เป็นผลโดยตรงมาจากการขึ้นของราคานํ้ามันและก๊าซหุงต้มในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ต้องบอกว่ารัฐบาลค่อนข้างจะตกอยู่ในภาวะ “บุญมีแต่กรรมบัง” พอสมควรกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้

เพราะแม้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องของ “บุญ” ที่ดีขึ้น แต่ก็กลับมี “กรรม” ในเรื่องของแพงเข้ามาบดบังไว้

ไม่สามารถอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นจริง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนจากของแพง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนาอย่างแน่นอน

ทุกๆครั้งที่มีรายงานว่า เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ก็จะมีการตั้งคำถามอยู่แล้วว่า ใครได้ประโยชน์? เพราะจากตัวเลขที่มีการศึกษาวิเคราะห์กันมาตลอด พบว่าความเจริญทางเศรษฐกิจจะตกอยู่ในกลุ่มของคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วมากกว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ

จู่ๆมามีเรื่อง “ของแพง” แถมเข้ามาอีกเรื่องก็จะยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เห็นคุณค่าของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ว่าสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสเท่าไรนัก

ผมถึงได้บอกว่ารัฐบาลตกอยู่ในฐานะบุญมีแต่กรรมบัง และยังหวังว่า ท่านจะหาทางแก้กรรมได้ในที่สุด

อะไรไม่อะไร ปัญหา “เรื่องความเหลื่อมล้ำ” แม้จะน่าห่วงใยมากในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็เป็นเรื่องระยะยาวที่คนไทยไม่ค่อยรู้สึกว่า มีผลกระทบต่อตัวเองหรือครอบครัวแต่ประการใด

แก้ได้ก็ดี แก้ไม่ได้ก็เพียงแค่บ่นกันไป ตราบใดที่คนจนยังไม่ขาดแคลนปัจจัย 4 หรือปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ ก็อยู่กันไปได้เรื่อยๆ

แต่ปัญหา “ของแพง” นี่ ประชาชนมักไม่ค่อยอดทนนะครับ ที่แล้วๆมาเวลาเกิดภาวะของแพงทีไร รัฐบาลมักจะเหนื่อยทีนั้น บางยุคบางสมัยถึงกับต้องโบกมือลาเลยก็มี…

คงต้องฝากให้รัฐบาลชุดนี้เอาใจใส่ในประเด็นนี้ให้มากที่สุดห้ามประมาทเชียวนาครับบิ๊กตู่…ผมก็คงจะกราบเรียนเตือนท่านได้สั้นๆ เพียงเท่านี้แหละครับ.

“ซูม”