“นิสัย” นักการเมือง เหมือนกันหมดทั้งโลก

แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะใช้หัวเรื่องของผมวันนี้ว่า “สันดาน” นักการเมืองเหมือนกันหมดทั้งโลกนี้ แต่มานึกดูอีกที คำว่า “สันดาน” อาจจะแรงเกินไป เพราะเรามักเอามาใช้ในกรณีที่เป็นเรื่องเสียหาย หรือในทางไม่ค่อยดีมากกว่า แม้ในคำนิยามโบราณอาจหมายถึงเรื่องดีๆด้วยก็ได้

ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานอธิบายสั้นๆว่า “สันดาน” น. อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด เช่นมี สันดานดี มีสันดานเลว มักใช้ไปในทางไม่สู้ดี เช่น สันดานของเขาเป็นเช่นนั้น อย่าไปถือเลย เป็นต้น

เห็นไหมครับว่า ตามหลักภาษาไทยแท้ๆนั้น มีความหมายได้ทั้ง 2 ทาง คือทั้งดีและไม่ดี…แต่ก็เอาเถอะ…เมื่อเราเอามาใช้เสียจนเข้าใจว่า คำนี้มีความหมายในเชิงไม่ค่อยดีไปซะแล้ว

ผมก็เลยตัดสินใจเอาคำว่า “นิสัย” มาใช้แทน เพราะเป็นคำกลางๆ ต้องเติมคำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ลงไป จึงจะรู้ชัดว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ฟังดูแล้วน่ารักกว่าคำว่า “สันดาน” เยอะเวลาเอามาใช้พาดหัว

แต่ในตอนเขียนบรรยายในคอลัมน์ ผมขออนุญาตใช้สลับกันไปนะครับ “สันดาน” บ้าง “นิสัย” บ้าง เพื่อไม่ให้ซ้ำซาก

ที่ผมเชื่อมั่นจนถึงขั้นพาดหัวคอลัมน์วันนี้ว่า นิสัย หรือสันดานของนักการเมืองมักจะเหมือนกันทั้งหมดในโลกนี้ ก็สืบเนื่องมาจากข่าวผลการเลือกตั้งจากประเทศล่าสุด อันได้แก่มาเลเซียนั่นแหละครับ

เหมือนกันตั้งแต่ความดุดัน ความเจ้าคิดเจ้าแค้น โดยเฉพาะในเรื่องเจ้าคิดเจ้าแค้นนั้น แทบไม่ต่างกันเลยไม่ว่าประเทศไหนๆ

ใครชนะจะต้องเล่นงานคนแพ้ หนักบ้าง เบาบ้าง ว่ากันไปตามกรณี แต่ที่จะไม่ล้างแค้นแทบไม่มีเลย

ของมาเลเซียพอท่าน มหาธีร์ โมฮัมหมัด ชนะและเข้ารับตำแหน่งไม่ถึงวัน ก็ออกคำสั่งห้ามอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค ออกจากประเทศตามมาด้วยการเตรียมการเพื่อดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชันเป็นลำดับต่อไป

ถามว่าท่านมหาธีร์ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าจะมาปราบคอร์รัปชัน หรือว่าทำด้วยความแค้นส่วนตัวอยู่บ้าง

แม้ผมจะเชื่อว่าท่านทำตามที่หาเสียงไว้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ เชื่อว่าคุณนาจิบผิดจริง แต่ก็คงจะมีอารมณ์ล้างแค้นเจือปนอยู่บ้างละ

เพราะตอนที่ท่านมหาธีร์พ้นตำแหน่งก็โดนฝ่ายที่อยู่ในอำนาจตั้งข้อหาอยู่เหมือนกัน ดีว่าเอาตัวรอดมาได้ เพราะเป็นคนซื่อสัตย์โดยแท้จริง

จากการ “ล้างแค้น” ต่อไป ก็คงเป็นการ “ล้างบาง” คือ ปลดข้าราชการประจำที่แหลมเกินเหตุ แสดงตนว่าอยู่กับฝ่ายที่แล้วหรือช่วยฝ่ายที่แล้วเอาไว้มากๆ ซึ่งก็คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

จากนิสัยหรือสันดานของนักการเมืองในลักษณะเช่นว่านี้ ทำให้ผู้ที่จะมาเล่นการเมือง หรือเข้าทำงานทางการเมืองได้ จะต้องเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษกว่าคนทั่วๆไป

จะต้องเป็นคนดุ คนสู้คน ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จะต้องเหี้ยมนิดๆ ไปจนถึงเหี้ยมมากๆ คือถ้ามีโอกาสเล่นงานคู่ต่อสู้จนจมธรณีได้ ก็จะต้องทำ จะมีลูกสงสารเห็นใจไม่ได้เด็ดขาด

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมีลูกเหี้ยมแล้วก็จะต้องมีลูกหวานๆไว้เป็นหนทางออกด้วยเหมือนกัน เอาไว้ใช้เวลาจนแต้ม หรือจนตรอกว่างั้นเถอะ

อีกลูกหนึ่งที่นักการเมืองทั่วโลกมักจะเกิดขึ้นในช่วงหลังๆ คือการตระบัดสัตย์ เปลี่ยนคำพูด เปลี่ยนความเชื่อถือ เมื่อเห็นว่าการ “เปลี่ยน” นั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง

เราจึงเริ่มเห็นนักการเมืองระยะหลังเปลี่ยนจุดยืนกันบ่อยๆ แม้แต่ที่มาเลเซีย ใครจะนึกว่าท่าน มหาธีร์ ที่เคยเอาเป็นเอาตายกับคุณ อันวาร์ อิบราฮิม จะหันมาจับมือกับอันวาร์ได้

สำหรับกรณีของมาเลเซียอาจถือเป็นการ “เปลี่ยน” หรือ “ตระบัดสัตย์” ในแง่ดี คือหันมาจับมือกันเพื่อจัดการคุณราซัค ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหาของชาติ

ต่างกับของเราที่พร้อมจะตระบัดสัตย์ หรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวรักกัน เดี๋ยวโกรธกัน ทะเลาะกันแทบตาย หันมาดีกันซะแล้ว และดีกันได้แผลบเดียวก็อาจจะทะเลาะกันใหม่อีกหน

เห็นหรือยังล่ะครับ ว่านิสัยหรือสันดานนักการเมืองทั่วโลก มักจะมีอะไรคล้ายๆกันแบบนี้ทั้งสิ้น ผมเขียนอย่างเร็วๆนึกออกเพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านลองไปนึกหาประเด็นอื่นๆก็ได้ครับ มีอีกหลายเรื่องเลยล่ะที่เหมือนเด๊ะราวกับคลอดมาจากพ่อแม่เดียวกันซีน่ะ.

“ซูม”