ลุ้นครูไพบูลย์ บุตรขัน บุคคลสำคัญของโลก 2565

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม วีระ โรจน์พจนรัตน์ ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่าในการประชุมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมได้หารือกันถึงการเตรียมการเสนอรายชื่อบุคคลสำคัญของไทย เพื่อเสนอต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมใหญ่ครั้งต่อๆไป รวม 4 รายด้วยกัน

ได้แก่ 1. หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่จะครบอายุ 150 ปี ชาตกาลในปี พ.ศ.2563

2. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ “น.ม.ส.” ซึ่งจะครบรอบ 150 ปี วันประสูติในปี 2569

ท่านที่ 3 ได้แก่ พระยาโบราณ ราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้บุกเบิกการค้นคว้าโบราณคดีของเมืองพระนครศรีอยุธยา จะครบรอบ 150 ปีชาตกาล ใน พ.ศ.2564

และท่านที่ 4 ก็คือครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดังที่เขียนเพลงอมตะไว้มากมาย ซึ่งจะครบรอบ 50 ปี ที่เสียชีวิตในปี 2565

ผมอ่านข่าวนี้แล้วก็รู้สึกปีติยินดี เพราะบุคคลทั้ง 4 ที่กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมเสนอไปยังยูเนสโก ล้วนเป็นบุคคลที่เหมาะสมทั้งสิ้น

ขอให้หน่วยงานที่ท่านรัฐมนตรีมอบหมายได้โปรดรวบรวมเรียบเรียงประวัติของแต่ละท่านเป็นภาษาอังกฤษให้ครบถ้วนตามแนวทางที่ยูเนสโกตั้งไว้ และส่งไปให้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีหน้าที่ประสานงานกับยูเนสโกดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้ทันเงื่อนเวลา

โดยส่วนตัวผมในฐานะแฟนเพลงลูกทุ่งคนหนึ่งขอเอาใจช่วยและลุ้น ครูไพบูลย์ บุตรขัน มากกว่าท่านอื่นๆ แต่ก็อดกังวลใจมิได้ เพราะในข่าวระบุว่า การเสนอชื่อครูไพบูลย์จะไปในวาระครบรอบ 50 ปีของการเสียชีวิต ไม่ใช่ครบ 100 ปีชาตกาล หรือ 150 ปีชาตกาล หรืออื่นๆ อย่างที่เราเคยได้ยิน

ผมไม่มีเวลาศึกษารายละเอียด แต่เข้าใจว่าทางกระทรวงวัฒนธรรมคงศึกษาแล้วว่า มีการยกย่องในวาระ 50 ปี ของการเสียชีวิตของบุคคลต่างๆ ด้วย จึงจะได้ส่งไปในประเภทนี้

ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีระบุว่า ครูไพบูลย์ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2459 จึงครบ 100 ปีชาตกาลในปี 2559 แต่ในหนังสือของ บุญเลิศ ช้างใหญ่ ระบุว่าครูไพบูลย์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2461 จึงครบ 100 ปีชาตกาล ใน พ.ศ.2561

จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ ที่ไม่ได้มีการเสนอชื่อไปก่อนหน้านี้ ทำให้ท่านพลาดโอกาสได้รับการยกย่องในโอกาส 100 ปีชาตกาลทั้งใน พ.ศ.2559 หรือ 2561 ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ก็ดีใจที่ทราบว่ายังจะมีโอกาสเชิดชูได้ทันวาระครบ 50 ปี ของการเสียชีวิต (หากมีประเภทนี้อยู่ด้วย) ดังที่ท่านรัฐมนตรีแถลงไว้ เพราะท่านเสียชีวิตเมื่อปี 2515 ครบ 50 ปี ในปี 2565 ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมแถลงว่าจะเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาในปี 2564 ซึ่งน่าจะทันพอดี

กล่าวกันว่า ในการนำเสนอประวัติบุคคลสำคัญนั้น นอกจากผลงานในประเทศ หรือการยกย่องยอมรับในประเทศแล้ว ควรจะต้องมีผลงานที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นใดในโลกให้การยอมรับด้วย

ดังเช่นเมื่อครั้งนำเสนอประวัติชีวิตและผลงานของท่าน ผอ. กำพล วัชรพล นั้น ก็จะมีการแนบผลงานของท่านที่สื่อมวลชนต่างประเทศให้การยอมรับไปด้วย รวมทั้งมีองค์กรสื่อของมิตรประเทศ เช่น เวียดนาม, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ให้การรับรองและสนับสนุน

หรือย้อนไปในอดีต เมื่อครั้งเสนอชื่อครู เอื้อ สุนทรสนาน กระทรวงศึกษาธิการได้แนบเนื้อเพลงและทำนองเพลง “รำวงลอยกระทง” ที่ครูเอื้อประพันธ์ไปด้วย พอเปิดออกมาแล้วต่างชาติก็รู้กันทั่ว ว่าเพลงนี้เป็นเพลงของประเทศไทยที่รู้จักอย่างดีในระดับสากล

ผมแนะนำว่าเพื่อให้การเสนอประวัติครูไพบูลย์หนักแน่นขึ้น มีเพลงของครูไพบูลย์อยู่เพลงหนึ่งชื่อ “กลิ่นโคลนสาบควาย” นอกจากฮิตในประเทศไทยเราแล้ว ในสมัยสงครามเย็นประเทศไทยยังต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หลายปีก่อนโน้น เพลงนี้ก็ฮิตที่ประเทศจีนด้วย

ผมเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัดได้ยินผู้ใหญ่แอบเปิดฟัง “สถานีวิทยุปักกิ่ง” ภาคภาษาไทยอยู่บ่อยๆ จำได้ว่า วงออเคสตรา ปักกิ่งนำทำนองเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ไปบรรเลงได้อย่างไพเราะจับใจ

อย่าลืมแนบทำนองเพลงนี้ไปด้วยนะครับ ถ้าได้แผ่นเสียงเก่าๆยุคโน้น จากสถานีวิทยุปักกิ่งไปประกอบด้วยก็จะดีมากเลยครับ.

“ซูม”