ตำนานนาฬิกาไทยแลนด์ จากมิโด้ถึง “ริชาร์ด มิลล์”

“นาฬิกา” เป็นหัวข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย และในโซเชียลมีเดียไทยมานานหลายเดือนแล้ว แม้จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงเป็นหัวข่าวใหญ่อยู่ และยังคาดเดาไม่ถูกว่าจะหลุดไปจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์ หรือการแชร์ของโซเชียลมีเดียเมื่อไรกันแน่

ตามหลักการเขียนคอลัมน์นั้น เขาบอกว่าจะต้องเขียนล้อข่าวหน้า 1 เอาไว้ หรือเขียนถึงเรื่องราวที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ (พูดกันทั้งเมือง) เพราะจะทำให้คนอยากอ่านและติดตามคอลัมน์ของเราโดยอัตโนมัติ

สำหรับคอลัมน์นี้ยังไม่ได้เขียนถึงข่าวนี้โดยตรงเลยครับ มีแต่เขียนโดยอ้อมๆ ไปบ้างในบางครั้ง ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์วันนี้คงต้องขออนุญาตเขียนถึงเรื่องนาฬิกาบ้างละครับ

แต่ก็คงจะเขียนในสไตล์ของ “เหะหะพาที” คือเขียนแบบเฮๆ ฮาๆ ขี่ม้าเลียบค่ายหยิบเรื่องประวัติศาสตร์นาฬิกามาเล่าสู่กัน

ในสมัยโบราณมนุษย์ยังไม่มีนาฬิกาใช้ การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ดวงอาทิตย์จึงเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่มนุษย์รู้จัก โดยนักประวัติศาสตร์ ชื่อ Herodotus ได้บันทึกไว้ว่า ประมาณ 3,500 ปีก่อนโน้น มนุษย์รู้จักใช้ “นาฬิกาแดด” ซึ่งนับเป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลก โดยสามารถอ่านเวลาได้จากเงาที่ตกทอดลงบนขีดเครื่องหมายที่ทำไว้

สำหรับประเทศไทย คนไทยประดิษฐ์เครื่องบอกเวลาเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากรมอุทกศาสตร์ท่านแรกของสยาม Captain Loftus จัดทำนาฬิกาแดดประดิษฐานไว้ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติฯ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นนาฬิกาเรือนแรกของประเทศไทย และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของนาฬิกาข้อมือนั้น ถือกำเนิดในโลกในปี ค.ศ.1806 เนื่องจากพระนางโยเซฟีน พระมเหสีของพระเจ้านโปเลียน มีความคำนึงถึงนาฬิกา เมื่อพระเจ้านโปเลียนทรงทราบจึงบัญชาให้ช่างทำนาฬิกาประดิษฐ์สร้างนาฬิกาแบบผูกข้อมือ เพื่อเป็นของขวัญแด่มเหสีของพระองค์ กลายเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก

ค.ศ.1947 หรือ พ.ศ.2490 ผู้เขียนคอลัมน์นี้อายุได้ 6 ขวบ เริ่มจำความได้ชัดเจนว่า ที่ตลาดเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ มีร้านนาฬิกาขายแล้ว เป็นร้านของ “โกเก่ง” ชาวจีนไหหลำ เพื่อนของบิดาผู้เขียน ส่วนใหญ่จะขายนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์ ราคาปานกลางเรือนละ 400-500 จนถึง 1,000 บาท อย่างแพงสุด นานๆจะขายได้สักเรือน แต่อาชีพหลักของโกเก่งคือซ่อมนาฬิกา

ค.ศ.1951 หรือ พ.ศ.2494 ผู้เขียนคอลัมน์อายุ 10 ขวบ เริ่มอ่านหนังสือได้แตกฉาน สามารถไปอ่านหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟประจำตลาดได้แล้ว และพบว่านาฬิกาที่ดังที่สุดของประเทศไทยในปีดังกล่าวได้แก่ นาฬิกายี่ห้อ “มิโด้” มีเอเย่นต์ใหญ่อยู่ถนนเยาวราช ได้ข่าวว่าราคาแพงมาก เป็นที่นิยมของคนมีเงินยุคนั้น และฮิตจัดจนถึงกับคำว่า “มิโด้คู่” หรือ “มิโด้ 2 เรือน” กลายเป็นศัพท์สแลงในรายงานข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ หมายถึง กุญแจมือ ที่ตำรวจใช้ใส่ข้อมือผู้ต้องหา…ซึ่งในยุคนั้นจะพาดหัวข่าวหรือบรรยายใต้ภาพว่า…โจรอำมหิตถูกตำรวจล่าตัวได้แล้ว จับใส่ “มิโด้คู่” (กุญแจมือ) พร้อมยัดเข้าห้องขังทันที

ปี ค.ศ.1964 หรือ พ.ศ.2507 ญี่ปุ่นได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรก ซึ่งในปี 2507 นี้เอง นอกจากจะเป็นการยกชั้นประเทศญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วจนโด่งดังไปทั่วโลก ญี่ปุ่นก็ยังทำให้โลกได้รู้จัก นาฬิกาไซโก้ อีกด้วย โดยนำมาใช้เป็นนาฬิกาจับเวลาของโอลิมปิกดังกล่าว

ค.ศ.2017 หรือ พ.ศ.2560 คนไทยที่ไม่เคยรู้มาก่อนเพิ่งจะรู้ว่า มีนาฬิกาที่แพงที่สุดของโลกยี่ห้อ “ริชาร์ด มิลล์” ราคาเรือนละหลายล้านบาท เพราะหนังสือพิมพ์ลงข่าวพาดพิงถึงทุกวัน นอกจากพลอยมีวาสนาได้รู้จักนาฬิกา ริชาร์ด มิลล์ แล้วคนไทยยังรู้จัก โรเล็กซ์ กับ ปาเต็ก ฟิลิปป์ รวมแล้วถึง 25 เรือนอีกด้วย

ค.ศ.2018 ย่างเข้าเดือนมกราคมแล้ว คนไทยยังพูดเรื่องนาฬิกาข้อมือกันไม่จบ และเกิดศัพท์ใหม่และคำพูดประโยคใหม่ที่ติดปากคนไทยใน พ.ศ.นี้โดยทั่วไป ใครที่สวมนาฬิกาสวยดูมีราคาไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม เวลาได้รับคำชมจากเพื่อนๆ ว่า “นาฬิกาสวยจังนะ” คนผู้นั้นก็มักจะตอบยิ้มๆ ว่า “สวยเหรอ…เรายืมเขามาน่ะ” หรือไม่ก็ “สวยเรอะ เพื่อนให้ยืมมาว่ะ” กลายเป็นคำพูดยอดนิยมที่ต้องบันทึกไว้.

“ซูม”