ภารกิจเตรียมอุดมศึกษา เพาะ “ต้นกล้า” เพื่อแผ่นดิน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงงานคืนสู่เหย้า เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ บรรยายเฉพาะโปรแกรมงานอย่างเดียวก็เต็มคอลัมน์ ไม่มีเนื้อที่เหลือสำหรับแสดงความคิดความเห็นเพิ่มเติมมากนัก

วันนี้ขออนุญาตเขียนต่ออีกสักวันนะครับ ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งที่เคยฝึกปรือวิทยายุทธ์ที่โรงเรียนแห่งนี้ เป็นเวลาถึง 2 ปีเต็มๆ ตามหลักสูตรเตรียม 1 และเตรียม 2 ในยุคโน้น

ผมต้องขอขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่กรุณาประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่เด็กๆรุ่นผม ซึ่งกลายเป็น ส.ว.รุ่น 70++ (หมายถึงอายุเกิน 70 ปี) น่าจะเกือบทั้งรุ่นแล้วในปัจจุบันนี้ จนมีพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็ง สามารถไปเรียนต่อสูงขึ้นตามลำดับ และต่อมาก็มีโอกาสได้ทำงานรับใช้ชาติในหลายๆแขนงอาชีพ

ประสบความสำเร็จตามสมควร มีชื่อมีเสียงเป็นที่ยกย่องและกล่าวขวัญถึงในสังคมไทยพอสมควร

ไม่เฉพาะรุ่นผมซึ่งเป็นรุ่นที่ 21 หรือ ต.อ.21 เท่านั้น หากนับรวมตั้งแต่รุ่นก่อนผมคือตั้งแต่รุ่นหนึ่งมาจนถึงรุ่นหลังๆ รวมทั้งรุ่นที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยออกไปหมาดๆ น่าจะมีหลายๆ หมื่นคน สมกับคำอุปมาอุปไมยที่ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแหล่งเพาะ “ต้นกล้าของแผ่นดิน” โดยแท้

ถ้าจะถามผมว่าเพราะอะไรโรงเรียนเตรียมอุดมฯจึงกลายเป็นโรงเรียนยอดนิยม มีเด็กๆมาสอบเข้ามากมายในแต่ละปี จนมีโอกาสคัดเลือกเด็กในระดับหัวกะทิเข้ามาเรียนจำนวนมาก และสามารถเพาะพันธุ์กล้าแห่งแผ่นดินได้อย่างมากในทุกๆสาขา?

ผมก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะต้นกำเนิดที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังที่เขียนไว้เมื่อวานนี้นั่นเอง

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มีโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ของตนเอง และทางจุฬาฯ ต้องส่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์คืนให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในที่สุด

แต่ด้วยความคุ้นเคยและการเรียกติดปากของประชาชนว่า “เตรียมจุฬาฯ” แม้จะผ่านไปอีกหลายๆ ปีก็ยังเรียกว่า “เตรียมจุฬาฯ” กันอยู่ น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญที่ดึงดูดให้เด็กๆอยากไปเรียนในโรงเรียนนี้ในเบื้องต้น

ต่อมาเมื่อได้เด็กหัวกะทิไปเรียนมากขึ้น ประกอบกับครูบาอาจารย์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ทำให้เด็กเตรียมอุดมฯสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากในแต่ละปี

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงกลายเป็นโรงเรียนยอดนิยมด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำว่า “เตรียมจุฬาฯ” อย่างในยุคแรกๆ

แม้ผมจะเห็นด้วยกับนโยบายการกระจายโอกาสทางการศึกษา และการมุ่งพัฒนาโรงเรียนมัธยมต่างๆให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ก็ทราบดีว่าในทางปฏิบัติจะทำได้อย่างยากลำบาก และเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้เกิดความทัดเทียมกันอย่างแท้จริง

ดังนั้น การมีโรงเรียนที่มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง และเป็นที่นิยมของเด็กนักเรียน เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้าของแผ่นดินในสาขาที่ต้องการความสามารถสูงๆ จึงยังเป็นเรื่องจำเป็น

ผมจึงรู้สึกดีใจที่ทราบว่าทุกวันนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ยังทำหน้าที่ในการคัดกรองและเพาะบ่มความรู้ให้แก่เด็กๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม

เพียงขอฝากไว้ว่า การเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ อย่างเข้มแข็งนั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ขอให้เดินหน้าต่อไปเถิด แต่ก็ควรจะเพิ่มเติมหลักสูตรที่จะเพาะบ่มจิตใจและอุปนิสัยของเด็กๆให้รู้จักรักสังคมไทย รักคนไทย รักประเทศไทย และพร้อมที่จะนำความเก่ง ความสามารถของพวกเขาออกมาช่วยพัฒนาประเทศไทยในอนาคตควบคู่ไปด้วย

เพื่อให้คำว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีจิตอาสาเพื่อสังคมเป็นคุณสมบัติของเด็กเตรียมอุดมฯทั้งในวันนี้และวันหน้า

ถ้าทำได้เช่นนี้ อัตลักษณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ที่ว่า “ต้นกล้า ของแผ่นดิน” ก็จะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงแต่อย่างใดเลย…

และจะสามารถยืนยงต่อไปได้อีกเป็นร้อยๆ ปีด้วยซ้ำ หากยังดำเนินการ ในลักษณะนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง.

“ซูม”