กลับหัวตีลังกา! ทางรอดยุค 4.0

เมื่อ 2 วันก่อนมีข่าวใหญ่พาดหัวหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับอยู่ข่าวหนึ่งที่ผมอ่านแล้วก็รู้สึกใจหาย จนต้องขออนุญาตนำมาระบายต่อในวันนี้

ได้เขียนได้ปลดปล่อยอารมณ์ออกมาเสียบ้าง ความทุกข์ ความใจหายที่ว่านี้คงจะค่อยๆคลายๆลงว่าอย่างนั้นเถอะครับ

หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ได้ออกมาแถลงเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ 3 ปี ข้างหน้าของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ “2020 SCB VISION” สรุปข้อใหญ่ใจความว่า

เมื่อเวลานั้นมาถึง (จากนี้ไปอีกประมาณ 1,000 วันเศษ) สาขาของธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน 1,553 สาขา จะปรับลดลงเหลือ 400 สาขา และพนักงานที่มีอยู่ 27,000 คน จะปรับลดลงเหลือ 15,000 คน

สืบเนื่องมาจากผลกระทบของเทคโนโลยียุคดิจิทัล ที่จะทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านสาขาลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมจากที่เคยรับจากการให้บริการลูกค้าถ้าจะหายไปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของรายได้รวมทั้งหมด

สิ่งที่จะทำให้ธนาคารอยู่รอดได้ก็คือ ต้องปรับลดต้นทุนลงไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ พร้อมปรับทัพปรับองค์กรเคลื่อนสู่แพลตฟอร์มที่สนองความต้องการของลูกค้าและก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด

เพื่อที่จะเดินไปสู่วิสัยทัศน์ที่ว่านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จะนำกลยุทธ์ “Going Upside Down” หรือ “กลับหัวตีลังกา” คือทำอะไรตรงข้ามจากของเดิมทั้งหมดมาใช้

สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการก็คือ ทำตัวให้ผอมเสียก่อน เพราะหากเป็นคนอ้วน การตีลังกาก็จะลำบาก เดิมเคยเป็นองค์ใหญ่ตัดสินใจอะไรก็จะล่าช้าต่อไป จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปจึงจะมีความคล่องตัว

ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์ตราใบโพธิ์ ได้กล่าวถึงวิธีการที่จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางเพื่อการเอาตัวรอดอย่างละเอียดมาก ผมคงไม่สามารถคัดลอกมาได้หมด

ท่านที่สนใจกลับไปพลิกข่าวเมื่อวันก่อนเอาเองละกัน หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐก็ดูเหมือนลงไว้ทั้งฉบับวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมานี้

ผมรับทราบและอ่านเจอมานานแล้วว่า 1 ในอาชีพที่จะไม่รุ่ง ในสหรัฐอเมริกาที่เขาพยากรณ์กันไว้ก็คือพนักงานธนาคารนี่แหละ อาจจะดีกว่าอาชีพของพวกผมคือสื่อมวลชนนิดหน่อย แต่ลงท้ายแล้วก็จะมีโอกาสตกงานพอกันเมื่อยุคดิจิทัลเต็มรูปเดินทางมาถึง

วันนี้ได้อ่านคำแถลงของท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยแล้วก็ถึงบางอ้อว่า สิ่งที่เราเคยอ่านเจอ เคยรู้ว่าธนาคารก็จะเจอพิษดิจิทัลด้วยนั้นเป็นความจริงขึ้นมาแล้วและจะจริงมากยิ่งขึ้นทุกวัน

นี่ขนาด 4.0 ยังมาไม่ถึงแบบเต็มสูบนะครับ ยังมีผลกระทบด้านการจ้างคน การต้องปรับตัวของธุรกิจการธนาคารและการเงินถึงเพียงนี้

ถ้ามาถึงจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น? จะมีธุรกิจอะไรได้รับผลกระทบอีกไหม? รัฐบาลจะช่วยดูแลคนตกงานอันเป็นผลมาจากดิจิทัลอย่างไรบ้าง?

งานใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจะจ้างคนได้แค่ไหน? จะพอรองรับคนที่จะตกงานจากการปรับตัวของธุรกิจเดิมได้หรือไม่?

โปรดคิดล่วงหน้าไว้ด้วยนะครับ อย่ามุ่งแต่จะไป 4.0 อย่างเดียวเดี๋ยวจะปรับตัวไม่ทัน

เขียนมาถึงตอนนี้ผมก็นึกถึง “ซิโก้” หรือ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตศูนย์หน้าทีมชาติไทยและอดีตโค้ชทีมช้างศึกไทยชุดนำทีมเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลกเอเชียได้ จนเป็นที่ฮือฮาเมื่อ 2-3 ปีก่อนนั่นแหละ

ซิโก้ “ตีลังกา” เก่งมาก สมัยเป็นผู้เล่นยิงประตูได้ทีไรเป็นต้องโชว์ตีลังกาในสนามทุกทีไป

ต่อไปเมื่อธุรกิจไทยต้องหันมาใช้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” กันมากขึ้น เพื่อความอยู่รอดในยุคดิจิทัลและ 4.0

ซิโก้เปิดโรงเรียนสอนตีลังการอไว้ได้เลย อาจจะเป็น “สตาร์ตอัพ” ร่ำรวยกันใหญ่ก็ได้นาน้องโก้เอ้ย!

ป.ล.ข่าวนี้ไม่เกี่ยวกับ 4.0 ครับ เพราะตกยุคกันหมดแล้ว สมใจนึก เองตระกูล ประธานนักศึกษา วปรอ.355 และ พล.อ.ชำนาญ พาสุนันท์ เลขานุการรุ่น นัดเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ที่ โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ 18.00 น. วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 25 มกราคม)…ขอเชิญสมาชิก วปรอ.355 และครอบครัวไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกันด้วย.

“ซูม”