โรดแม็ปเดิม “ลงตัว” ที่สุด

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนโรดแม็ปการเลือกตั้งของประเทศไทยอีกแล้ว คืออาจจะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมเดือนพฤศจิกายน อีกอย่างน้อย 90 วัน หรือ 3 เดือน

เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มีมติเสียงข้างมากในการแก้มาตรา 2 ของกฎหมายฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ 90 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แทนที่จะบังคับใช้ทันทีที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามร่างเดิมที่มีการร่างกันไว้

แม้การแก้ไขดังกล่าวนี้จะยังไม่เป็นข้อยุติ เพราะยังจะต้องผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 ต่อไปอีก แต่ก็ดูเหมือนจะสรุปล่วงหน้าไปเสียแล้วว่าน่าจะผ่านแน่ เพราะที่ออกมาในลักษณะนี้ต้องมีใบสั่งพิเศษมาอย่างแน่นอน และเมื่อพิเศษอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะฉลุยไปตลอดในทุกวาระ

จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์หนักบ้าง เบาบ้าง ล่วงหน้าไปแล้วในหลายๆ ประเด็น ที่ผมขออนุญาตไม่นำมาเอ่ยถึงในคอลัมน์นี้

สำหรับความเห็นของผมนั้น ถ้าจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไป จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนรวม จึงภาวนาขอให้การแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯไม่ผ่านวาระ 2 วาระ 3 ในที่สุด

เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเดิม หรือโรดแม็ปเดิม ที่ว่าจะมีการประกาศเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และเลือกตั้งกันในเดือนพฤศจิกายนของปี 2561 หรือปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

ที่ผมใช้คำว่าเหมาะสม ก็เพราะหัวหน้ารัฐบาลคือท่านนายกฯท่านอยู่ในตำแหน่ง และทำหน้าที่บริหารประเทศมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จะครบ 4 ปีในเดือนพฤษภาคมปีนี้

ระยะเวลา 4 ปี เป็นช่วงเวลาที่ “ลงตัว” สำหรับความพึงพอใจของคนไทยในระดับที่มีพลังทางการเมือง ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็เป็นคนมีเสียงดัง ชอบบ่น ชอบตำหนิ และมักจะเบื่ออะไรง่ายๆ

คนกลุ่มนี้เริ่มแสดงความเบื่อออกมาแล้ว แม้อาจจะไม่เบื่อท่านนายกฯโดยตรง แต่ก็จะรู้สึกเบื่อคนรอบข้าง และเบื่อความจำเจของผู้บริหารต่างๆ ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อจะต้องมาเลื่อนไปอีก 3 เดือน แม้จะดูไม่มาก แต่ในทางจิตวิทยาต้องข้ามปีไปเป็นปี 2562 ความรู้สึกหงุดหงิดของคนกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้น

ผมไม่ทราบว่าจำนวนคนที่ผมใช้คำว่า “กลุ่มนี้” จะมีมากเท่าใด และจะมีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายได้หรือไม่ รวมทั้งนักการเมืองต่างๆ ที่ยังไงก็ไม่พอใจรัฐบาล คสช.อยู่แล้ว

ถ้าไม่มีพลังมากพอก็แล้วไป แต่ถ้ามีก็จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ราบรื่น และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อาจจะขลุกขลัก และดีไม่ดีบุคคลที่หลายๆ ฝ่ายอยากได้ และออกแบบรัฐธรรมนูญเอาไว้ (เช่น บิ๊กตู่ เป็นต้น) อาจจะกลับมาไม่ได้เอาด้วยซ้ำ

ผมก็เหมือนคนเรียนจบมหาวิทยาลัยทั่วๆไปแหละครับ ที่อยากเห็น และอยากได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่จากประสบการณ์การทำงานช่วงหนึ่งในชีวิต สอนให้ผมรู้ว่า หากเอาการพัฒนาประเทศเป็นตัวตั้งแล้วไซร้ ในจำนวน 3 ระบอบ คือ “เผด็จการเต็มรูป” “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” นั้น ประชาธิปไตยเต็มใบ มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอัตราตํ่ากว่าเพื่อน

เผด็จการเต็มรูปต่างหากที่ทำให้การพัฒนาประเทศไปได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มากไปด้วยคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทางทหาร หรือเผด็จการพลเรือน ที่คุมเสียงได้ในสภาก็ตาม

ผมจึงเห็นว่าประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นจุดประนีประนอมที่ดีที่สุด และก็ได้พิสูจน์มาแล้วในยุคที่ “ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น หากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเดินไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบตามที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวผมแล้ว จึงยอมรับได้ และอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่ทุกฝ่ายยอมรับ และได้มีประกาศไว้แล้ว

เพื่อความราบรื่น คล่องตัว และลงตัวว่างั้นเถอะครับ.

“ซูม”